ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 5 ส.ค.63 ที่มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% เนื่องจาก กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ และการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับไปสู่ระดับเดิม และยังต้องระวังความเสี่ยงจากโอกาสเกิดการระบาดระลอกที่สอง
กนง.เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ ควบคู่กับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อของ ธปท. และมาตรการการคลังของรัฐบาลได้ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลาย ตลอดจนเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน
"คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การลดอัตราอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม อาจมีประสิทธิผลไม่มากในบริบทปัจจุบัน โดยอาจกระทบต่อการทำหน้าที่ตัวกลางทางการเงินของสถาบันการเงิน เพิ่มความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินผ่านการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร รวมถึงกระทบต่อการออมของประชาชน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้รักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด" รายงาน กนง.ระบุ
กนง.ยังเห็นว่าควรเร่งรัดมาตรการด้านสินเชื่อและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อในระยะข้างหน้า ควรให้ความสำคัญกับ (1) ดูแลให้สภาพคล่องในระบบการเงิน กระจายไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น ผ่านการเร่งรัดสินเชื่อในโครงการต่าง ๆ (2) สนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งรัดการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะลูกหนี้ครัวเรือนและธุรกิจ และ (3) เตรียมมาตรการรองรับเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางการเงินของภาคธุรกิจ และการสร้างกลไกเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้มีมาตรฐานและดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น
นอกจากนี้ นโยบายการคลังต้องมีบทบาทมากขึ้นในระยะข้างหน้าที่จะสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เนื่องจากการฟื้นตัวจะใช้เวลาและมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ มาตรการภาครัฐในระยะข้างหน้าจึงต้องต่อเนื่อง ตรงจุด และทันการณ์ และควรให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอุปทาน เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยภาครัฐควรจัดตั้งช่องให้แรงงานเข้าถึงข้อมูลตลาดแรงงานในระดับท้องถิ่น รวมถึงจัดตั้งกลไกเพื่อพัฒนาทักษะแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่อาจมีทักษะไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานให้สามารถพัฒนาตนเองได้
กนง.อภิปรายเพิ่มเติมถึงบทบาทของนโยบายการเงินที่ช่วยสนับสนุนนโยบายการคลังในระยะข้างหน้า และมีความเห็นว่านโยบายการคลังที่จะมีบทบาทมากขึ้นในระยะต่อไป จะทำให้หนี้สาธารณะมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ต้นทุนการกู้ยืมที่ปรับลดลงมาก สภาพคล่องในตลาดการเงินที่อยู่ในระดับสูงรวมถึงหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้นโยบายการคลังของไทยยังมีขีดความสามารถในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เหมาะสมหลังการระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง
"มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลัง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น" รายงาน กนง.ระบุ
ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัว แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดมาก ในด้านการส่งออกบริการ มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มล่าช้ากว่าที่คาดไว้เดิม การส่งออกสินค้าหดตัวมากในไตรมาส 2/63 การบริโภคภาคเอกชนทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด แต่มองว่าจะยังหดตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปีจากรายได้ครัวเรือนลดลง และการว่างงานที่สูงขึ้น
ด้านการลงทุนภาคเอกชน มีแนวโน้มหดตัวสูงตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำ แต่การลงทุนภาคเอกชนระยะข้างหน้ายังมีแรงสนับสนุนจากแผนการย้ายฐานการผลิตมาไทยในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ด้านการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ จากการเบิกจ่ายภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด
กนง.อภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความท้าทายที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีที่อาจถูกกดดันจากหลายปัจจัย เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ภายใต้ความเสี่ยงของการระบาดระลอกสองในหลายประเทศ รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ถูกกดดันจากรายได้ครัวเรือนที่ลดลง แต่หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง
และเห็นว่าทาง ธปท. ควรเร่งประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อศึกษาถึงมาตรการที่สามารถทำได้เพิ่มเติมเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ควรประเมินผลดีและผลเสีย (policy trade-off) อย่างชัดเจนทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสาธารณสุข และ ควรดำเนินการควบคู่กับการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน และมาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือน โดยเฉพาะมาตรการสร้างงานใหม่และการดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงมาตรการลดภาระหนี้และเพิ่มสภาพคล่องให้กับภาคครัวเรือนเพื่อช่วยสนับสนุนการบริโภค
นอกจากนี้ กนง.ยังหารือถึงแนวนโยบายเพื่อช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อาทิ ธุรกิจโรงแรม และอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน และเห็นว่าแนวโน้มการฟื้นตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจจะแตกต่างกันและมีนัยเชิงนโยบายที่แตกต่างกัน โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าจะมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูงและกระทบการจ้างงาน ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วจะต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง กนง.จึงเห็นว่ารัฐบาลต้องเร่งดำเนินนโยบายด้านอุปทานเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นบ้างตามราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มติดลบในปี 63 และคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 64 ตามราคาน้ำมันดิบที่จะทยอยปรับสูงขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ระบบการเงินไทยมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง สามารถรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากโควิด-19 ได้ แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง
ระบบการเงินไทยมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็งสามารถรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากโควิด-19 ได้ แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากความไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง กนง.เห็นว่าควรให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจให้สอดคล้องกับกระแสรายได้และความสามารถการชำระหนี้ในบริบทใหม่หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อให้กระจายตัวสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบในวงกว้างผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) การค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) การสนับสนุนสินเชื่อโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เป็นต้น