คลัง กู้เงินเพิ่มแก้วิกฤติโควิด-19 กันหนี้สาธารณะเกือบชนเพดานหลังรายได้พลาดเป้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 20, 2020 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางแพตริเซีย มงคลวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยืนยันว่ากรณีการปรับเพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาลในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ (Revenue Shortfall) ในปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 214,093 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัตินั้น ไม่ได้ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะมีปัญหา โดยล่าสุดอยู่ที่ 45.83% ของจีดีพี และคาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2563 จะอยู่ที่ 51-52% ของจีดีพี และสิ้นปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 57-58% ของจีดีพี

"วงเงินกู้ 2.14 แสนล้านบาทที่เพิ่มขึ้น เป็นคนละส่วนการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ 2563 จำนวน 4.69 แสนล้านบาท ซึ่งมีการกู้ไปจนเต็มหมดแล้ว และการกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายกรณีที่รายจ่ายมากกว่ารายได้ในปี 2563 ไม่ได้ทำเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยเคยกู้เงินลักษณะนี้ในปีที่ไทยจะวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มาแล้ว เนื่องจากตอนนั้นรายจ่ายมากกว่ารายได้ที่เก็บได้เช่นกัน"

สาเหตุเนื่องจากคาดว่ารายได้ปีนี้จะจัดเก็บได้ต่ำกว่า 9% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือ กว่า 3 แสนล้านบาท เพราะมีการเลื่อนการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้ ทำให้กระทรวงการคลังคาดว่าจะเริ่มมีเงินเข้าในช่วงเดือน ก.ย.จึงจำเป็นต้องให้กระทรวงการคลังเปิดวงเงินกู้ดังกล่าว โดย สบน.จะประเดิมกู้ส่วนแรก 50,000 ล้านบาท โดยการออกเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ขายให้ประชาชนทั่วไปในเดือน ก.ย.

นางแพตริเซีย กล่าวว่า ตามกฎหมาย กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย บวกกับอีก 80% ของต้นเงินชำระเงินกู้ ซึ่งในปี 2563 จะสามารถกู้ได้ 6.38 แสนล้านบาท ซึ่งการกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุล และการกู้กรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ดังกล่าว ถือว่าเป็นการกู้เต็มจำนวนตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้

ส่วนการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ขณะนี้กระทรวงการคลังกู้ไปแล้ว 3.18 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือคาดว่าจะกู้ในปีงบประมาณ 2564 ตามความต้องการใช้เงินของรัฐบาลในแต่ละโครงการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ