นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยถึงนโยบายด้านพลังงานภายหลังการเข้าดำรงตำแหน่งว่า การดำเนินงานส่วนใหญ่ยังคงสานต่อนโยบายเดิมที่ผ่านมา แต่จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างงานสร้างรายได้ รวมถึงการวางรากฐานเพื่ออนาคตด้านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ยังเดินหน้าที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้า แต่ให้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมใน 30 วัน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนมากที่สุด ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าประเภท Quick win จะยังอยู่ในกรอบ 100-200 เมกะวัตต์ (MW) หรือไม่นั้น ต้องรอผลการศึกษาออกมาก่อน แต่เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้ในปลายปีนี้ และเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 64
ขณะที่ในส่วนของโซลาร์ภาคประชาชนก็ให้พิจารณาว่าจะปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากระดับ 1.68 บาท/หน่วยได้หรือไม่ เพื่อจูงใจให้ภาคประชาชนมีความสนใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้น และผลักดันให้เกิดการสร้างรายได้ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆ ตามมา แต่ในเรื่องนี้คงต้องใช้เวลาพิจารณา โดยไม่ได้เร่งรัดแผนดำเนินการแต่อย่างใด
"โรงไฟฟ้าชุมชน นโยบายเดิมมีอยู่แล้ว การทำโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องใช้ความรอบคอบ เรากำลังศึกษาดูว่าจะทำอย่างไรให้โรงไฟฟ้าชุมชนให้ผลประโยชน์เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้ประโยชน์แก่เกษตรกรเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ใช่ประโยชน์โรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าเป็นแค่ทางผ่านเพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกร เช่น จะทำโรงไฟฟ้าพืชพลังงาน ก็ต้องมีพื้นที่เพาะปลูกที่มั่นใจว่าปลูกได้ยั่งยืน เป็นพื้นที่ที่คุ้มค่าทดแทนพืชเศรษฐกิจเดิมที่ไม่คุ้มค่า...คงไม่ล่าช้า ทำให้เร็วสุดใน 30 วัน ปีหน้าก็เริ่มได้"นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การรับซื้อโรงไฟฟ้าชุมชนสามารถดำเนินการได้ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018) ซึ่งเป็นแผน PDP ฉบับเดิม เพียงแต่เพิ่มเติมบทแทรก โดยไม่รอจัดทำแผน PDP ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 ที่ปัจจุบันยังไม่ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยแผนดังกล่าวจัดทำก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น การปรับปรุงแผน PDP ใหม่คงต้องรอให้สถานการณ์โควิด-19 นิ่งก่อนจึงจะมีการปรับปรุงเพิ่มเติม
สำหรับปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ปัจจุบันมีมากถึงราว 40% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศนั้น เบื้องต้นมีแนวทางที่จะยกระดับโครงสร้างไฟฟ้าให้เป็นระดับภูมิภาค ด้วยการขายไฟฟ้าที่เหลือไปยังอาเซียน เน้นเมียนมาและกัมพูชา ซึ่งจะต้องสร้างความชัดเจนภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี โดยจะต้องใช้เงินลงทุนสูงและมีการปรับกฎระเบียบพอสมควร ส่วนที่อาจจะมีข้อเสนอให้ปลดระวางโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใกล้หมดอายุก่อนกำหนดนั้น คงไม่ดำเนินการเพราะมีสัญญาระหว่างกันอยู่แล้ว ซึ่งคงไม่ไปดำเนินการอะไรที่จะกระทบต่อภาคเอกชน
ขณะที่การจะเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างในลาวนั้น ก็มีโอกาสที่จะดำเนินการได้ เพราะไทยก็ยังคงต้องการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ที่มีต้นทุนที่ถูกเข้ามาเช่นกัน แต่คงไม่ใช่ช่วงเวลานี้เพราะต้องรอให้สถานการณ์ภายในประเทศและภาวะเศรษฐกิจของไทยนิ่งก่อน
รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า ด้านนโยบายปิโตรเลียมนั้น ขณะนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะเร่งรีบเปิดประมูลปิโตรเลียมรอบใหม่ จากก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานมีแผนจะเปิดประมูลปิโตรเลียมในปีนี้ เนื่องจากเห็นว่าราคาน้ำมันในขณะนี้ยังอยู่ในระดับต่ำไม่น่าจะจูงใจให้มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลมากและจะทำให้ไม่คุ้มค่า โดยให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไปศึกษาและลองสำรวจความต้องการก่อนกลับนำมาเสนออีกครั้ง ซึ่งไม่ได้เร่งรีบมากนัก อย่างไรก็ตามจะมีการเดินหน้าเจรจาพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชาเพื่อให้ประสบความสำเร็จ และเกิดประโยชน์แก่ทั้ง 2 ประเทศ
ส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของภาคเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) นั้น คาดว่าจะนำเข้าได้ภายในปีนี้ เพราะเป็นไปตามแผนการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2
ด้านการส่งเสริมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งแก๊สโซฮอล์ E20 และดีเซล B10 ยังคงเดินหน้าต่อไป เพราะจะสามารถช่วยให้เกษตรกรได้ประโยชน์ ส่วนจะสามารถประกาศให้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานได้เมื่อใดนั้นยังไม่มีความชัดเจน ต้องรอรายละเอียดจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ก่อนเพื่อให้เป็นไปตามความตั้งใจที่จะให้เป็นพลังงานทดแทนเพื่อความยั่งยืน
สำหรับแผนนโยบายพลังงานดังกล่าว จะเน้นการลงมือทำให้สำเร็จ (Execution) โดยได้มอบหมายให้ผู้บริหารทำแผนระยะ 5 ปีที่กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน เพื่อให้ติดตามได้อย่างใกล้ชิดต่อไป
ขณะที่วันนี้นายสุพัฒนพงษ์ ร่วมประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ" ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้แนวทาง รวมไทยสร้างชาติ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง อย่างภาคพลังงาน ที่จะเป็นตัวหลักดึงเศรษฐกิจที่อ่อนแอให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารและกลุ่มคนรุ่นใหม่จากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระในสังกัดกระทรวงพลังงาน รวมถึงผู้บริหารจากภาคเอกชนและผู้ประกอบการการด้านกิจการพลังงาน
รมว.พลังงาน กล่าวว่า การประชุมร่วมกันในวันนี้เพื่อร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันคิดและนำเสนอแผนงานกลับมาภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยเน้นในเรื่องการจ้างงาน การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและเอสเอ็มอี เพื่อให้มีการกระจายสัดส่วนรายได้ลงไปสู่ภูมิภาค ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งเบื้องต้นได้ขอให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่ออายุมาตรการตรึงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับกลุ่มเปราะบาง
ในด้านการจ้างงานก็ขอให้หน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องพลังงาน พิจารณาการจ้างงานเพิ่ม เพื่อรองรับแรงงานที่จบใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบอีกราว 4 แสนราย และก่อให้เกิดการสร้างงานในกลุ่มเอสเอ็มอีเพิ่มเติม ในส่วนของกระทรวงพลังงาน ก็จะใช้กลไกของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจะมีการทบทวนวัตถุประสงค์สำหรับการดำเนินการในปี 64 เน้นการสร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาสถานการณ์โควิด-19 มุ่งให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากขึ้น