นายกฯ เตรียมร่วมประชุมทางไกลผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ผลักดันการบริหารจัดการน้ำในอนุภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 21, 2020 10:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีกำหนดเข้าร่วมประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ผ่านระบบการประชุมทางไกลในช่วงเช้าวันที่ 24 ส.ค.นี้

โดยการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เป็นการประชุมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคของสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน ซึ่งพัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยเมื่อปี 2555 โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี และครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3

การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นในหัวข้อ "การยกระดับความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน" โดยมีนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประธานร่วม และผู้เข้าร่วมการประชุมได้แก่ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรไทย นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งที่ประชุมจะมุ่งเน้นการทบทวนความคืบหน้าในการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ความมั่นคง เพื่อความยั่งยืนร่วมกัน

พร้อมรับฟังแนวทางการดำเนินนโยบายจากผู้นำของประเทศสมาชิก ที่จะแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันผ่านการรับรองเอกสารผลลัพธ์ 2 ฉบับ ได้แก่ 1.ปฏิญญาเวียงจันทน์ของการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 และ 2.ถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการทำงานร่วมกันและสอดคล้องกันระหว่างกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง กับระเบียงทางการค้าเชื่อมทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยจะใช้โอกาสนี้ ย้ำเจตนารมณ์ในการสนับสนุนหลักพหุภาคีนิยม ชื่นชมความก้าวหน้าของความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิกที่มีอย่างต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน โดยมีประเด็นที่มีเป้าหมายสำคัญ ได้แก่

1. ด้านการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบ เช่น การสนับสนุนให้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านทรัพยากรน้ำอย่างต่อเนื่อง

2. ด้านการยกระดับความร่วมมือด้านสาธารณสุข ที่ไทยให้ความสำคัญกับความพร้อมของบุคลากร และโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ ความสามารถในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและยา ซึ่งไทยพร้อมให้ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนกับนานาชาติ

3. ด้านการยกระดับความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค ผ่านความร่วมมือในทุกมิติ ทั้งกายภาพ กฎระเบียบ และประชาชน ซึ่งไทยยินดีที่จะเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ โดยต้องคำนึงถึงความสมดุลและความมั่นคงทางสาธารณสุขควบคู่กัน

4. ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 (Post Covid-19 Economic Recovery) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย (MSMEs) พร้อมช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศสมาชิก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ