(เพิ่มเติม) ธปท.-สถาบันการเงิน เปิดโครงการ DR BIZ ช่วยลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายรายปรับโครงสร้าง ดีเดย์ 1 ก.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 21, 2020 13:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ แถลงข่าวเปิด "โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง" (โครงการดีอาร์บิส) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายรายให้ได้รับการบรรเทาภาระหนี้และให้มีกลไกในการจัดการหนี้กับสถาบันการเงินทุกแห่งได้อย่างบูรณาการ

ทั้งนี้ จะช่วยลดเวลาให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น ผ่านแนวทางแก้ไขหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ตกลงร่วมกันในรูปแบบมาตรฐาน และการกำหนดบทบาทของเจ้าหนี้หลักในการดูแลลูกหนี้และประสานกับเจ้าหนี้อื่น ทำให้การตัดสินใจแก้ไขหนี้ทำได้รวดเร็วและเบ็ดเสร็จ ให้ธุรกิจของลูกหนี้สามารถฟื้นตัวได้ตามศักยภาพของตนเอง รวมทั้งปรับตัวให้เท่าทันกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจของประเทศสามารถฟื้นตัวได้ในระยะต่อไป

ในระยะแรกเพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมุ่งกลุ่มลูกหนี้ธุรกิจที่มีหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายรายวงเงินรวมกันตั้งแต่ 50 - 500 ล้านบาท และสามารถใช้แนวทางที่กำหนดร่วมกันดังกล่าวขยายผลไปยังกลุ่มลูกหนี้ธุรกิจที่มีวงเงินขนาดอื่นได้ต่อไป ทั้งนี้ การเข้าร่วมโครงการทำได้โดยลูกหนี้สามารถติดต่อสมัครโดยตรงกับสถาบันการเงินหลักที่ใช้บริการหรือสถาบันการเงินแจ้งเชิญลูกหนี้เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 เป็นต้นไป

สำหรับ ลูกหนี้ธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ DR BIZ เป็นกลุ่มที่ยังคงมีศักยภาพแต่ประสบปัญหาจากสถานการณ์เศรษฐกิจและผลกระทบจากโรคโควิด-19 โดยสถาบันการเงินจะมีเครื่องมือและแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่เหมาะสมกับศักยภาพของลูกหนี้แต่ละราย เช่น การขยายเวลาชำระหนี้ การลดค่างวด หรือการปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ให้สอดรับกับธุรกิจของลูกหนี้ รวมทั้งการพิจารณาให้สินเชื่อใหม่แก่ลูกหนี้ที่มีศักยภาพ มีแผนธุรกิจชัดเจน มีพฤติกรรมชำระหนี้ดี และมีความตั้งใจในการทำธุรกิจ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. เปิดเผยว่า ธปท. ได้ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการออกหลายมาตรการเพื่อเป็นแรงจูงใจให้สถาบันการเงินออกโครงการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะเป็นหนี้เสีย ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยสถาบันการเงินให้ไม่ต้องมีภาระในการตั้งสำรองหนี้สูงขึ้น โดยมีการแก้เกณฑ์หลายอย่างเพื่อเร่งให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับปัญหาของแต่ละผู้ประกอบการ โดยประเมินว่าจะมีลูกค้าที่มีหนี้ 50-500 ล้านบาทที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ประมาณ 8,400 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 1.2 ล้านล้านบาท

"มีการประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต้องใช้เวลากว่า 2 ปี จึงจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีกาประเมินว่าหลายภาคอุตสาหกรรมต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว และในอีกหลายภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับปัญหากำลังแรงงานส่วนเกินเป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ"นายวิรไท กล่าว

ดังนั้น มาตรการข้างหน้าที่จะต้องเร่งดำเนินการคือการปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงกับปัญหาแต่ละกลุ่ม เพราะการทำมาตรการช่วยเหลือแบบทั่วไปอาจไม่ตอบโจทย์ มากเท่ากับการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับปัญหาของแต่ละกลุ่มผู้ประกอบการ

"ปัญหาที่ต้องเผชิญข้างหน้า คือ ยังมีผู้ประกอบการจำนวนมากต้องการให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุก และยังมีอีกหลายผู้ประกอบการต้องเผชิญกับอุปสรรคในการมีเจ้าหนี้หลายราย ทำให้การปรับโครงสร้างหนี้อาจไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น การเร่งทำมาตรการเพื่อลดปัญหาในระยะยาว เพื่อช่วยแก้ปัญหาทั้งลูกหนี้และสถาบันการเงิน ลดภาระการตั้งสำรองหนี้เสีย ลูกหนี้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล สะท้อนว่าโครงการ DR BIZ มีความสำคัญ และถือเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยเร่งให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุก" นายวิรไท กล่าว

ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า โครงการ DR BIZ จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี โดยในระยะแรกเพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมุ่งกลุ่มลูกหนี้ธุรกิจที่มีหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายรายวงเงินรวมกันตั้งแต่ 50-500 ล้านบาท และสามารถใช้แนวทางที่กำหนดร่วมกันดังกล่าวขยายผลไปยังกลุ่มลูกหนี้ธุรกิจที่มีวงเงินขนาดอื่นได้ต่อไป โดยลูกหนี้ธุรกิจที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมีสถานะหนี้ปกติ หรือเป็นหนี้เสีย (NPL) กับธนาคารบางแห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 และต้องไม่ถูกฟ้องคดี ยกเว้นเจ้าหน้าที่ถอนฟ้อง ซึ่งสถาบันการเงินจะใช้เวลาในการพิจารณา 1 เดือน หลังได้รับข้อมูลและเอกสารจากลูกหนี้ครบถ้วน

ลูกหนี้ธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ DR BIZ จะเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ยังคงมีศักยภาพ แต่ประสบปัญหาจากสถานการณ์เศรษฐกิจและผลกระทบของโควิด-19 โดยสถาบันการเงินจะมีเครื่องมือและแนวทางในการช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่เหมาะสมกับศักยภาพของลูกหนี้แต่ละราย เช่น การขยายเวลาชำระหนี้ การลดค่างวด หรือการปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระให้สอดคล้องกับธุรกิจของลูกหนี้ รวมทั้งการพิจารณาให้สินเชื่อใหม่แก่ลูกหนี้ที่มีศักยภาพ มีแผนธุรกิจชัดเจน มีพฤติกรรมชำระหนี้ดี และมีความตั้งใจในการทำธุรกิจ

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การปรับโครงสร้างหนี้จะมีทั้งการยืดอายุหนี้ การหาผู้ร่วมทุน และการให้สินเชื่อเพิ่มเติม โดยเจ้าหนี้รายใหญ่จะเป็นผู้ประสานกับเจ้าหนี้รายอื่นเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการแก้ปัญหา เป็นประโยชน์ทั้งกับลูกหนี้ สถาบันการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โครงการ DR BIZ นี้จะช่วยภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก ทำให้แก้ปัญหาหนี้ได้เร็ว เพราะขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถรอเวลาต่อไปได้อีกแล้ว ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งการยืดเวลาการชำระหนี้ การเพิ่มวงเงินสินเชื่อ และการหาผู้ร่วมที่ ธปท. และสถาบันการเงินจะช่วย จะเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ