รมต.เศรษฐกิจอาเซียน-อาร์เซ็ปเตรียมสรุปผลงานด้าน ศก.-หารือลงนาม RCEP พ.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday August 22, 2020 13:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ให้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 52 การประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ครั้งที่ 8 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 24-29 ส.ค.63 ผ่านระบบทางไกล โดยการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบปีของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ จะได้ร่วมกันหารือสรุปความก้าวหน้าและความสำเร็จการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเสนอต่อผู้นำที่จะประชุมร่วมกันในการประชุมสุดยอดอาเซียนเดือนพฤศจิกายน 2563 ขณะเดียวกันรัฐมนตรี RCEP 16 ประเทศ จะได้หารือเพื่อเตรียมการลงนามความตกลงฯ ในช่วงการประชุมสุดยอด RCEP เดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน จะรับรองและเห็นชอบเอกสารสำคัญหลายฉบับ ทั้งในส่วนของการดำเนินงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ (1) ดัชนีวัดการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน (2) ข้อริเริ่มร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (3) ร่างแผนปฏิบัติการของอาเซียนบวกสามว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) (4) แผนการดำเนินงานภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกาและการขยายการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ปี 2563-2564 (5) แผนงานเพื่อดำเนินการตามปฏิญญาร่วมระหว่างอาเซียนและแคนาดาด้านการค้าและการลงทุน ปี 2565-2568 (6) แผนงานด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-สหภาพยุโรป ปี 2563-2564 และ (7) แผนงานความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย กับสำนักเลขาธิการอาเซียน ปี 2563-2568

นอกจากการประชุมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศแล้ว ยังจะมีการพบหารือและการประชุมกับรัฐมนตรีการค้าของประเทศคู่เจรจาของอาเซียนอีก 11 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ แคนาดา รัสเซีย และสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นโอกาสดีที่อาเซียนจะได้หารือพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับประเทศเหล่านี้ และเตรียมการก่อนที่ผู้นำอาเซียนจะพบกับผู้นำของประเทศคู่เจรจาทั้ง 11 ประเทศ ในเดือนพฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ ตลอดปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกอาเซียนได้เดินหน้าหารืออย่างต่อเนื่องถึงแม้จะประสบกับปัญหาการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยสามารถบรรลุข้อตกลงและพร้อมจะลงนามภายในปีนี้ ได้แก่ (1) ข้อตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ (2) กรอบความตกลงอาเซียนด้านยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (3) การทบทวนข้อตกลงยอมรับร่วมในผลการตรวจสอบและรับรองของอาเซียน ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2541 ให้ทันสมัย (4) ข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวัสดุก่อสร้าง

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่มีความคืบหน้าอย่างมาก เช่น การใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-Wide Self Certification) ซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือนกันยายน การเตรียมขยายการใช้งานระบบ ASEAN Single Window ให้ครอบคลุมเอกสารอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin : CO) เป็นต้น

การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2562 มีมูลค่าการค้ารวม 107,674 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปอาเซียน 62,841 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าของไทยจากอาเซียน 44,833 ล้านเหรียญสหรัฐ และในเดือนมกราคม-มิถุนายน 2563 มีมูลค่าการค้ารวม 47,749 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน 28,498 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน 19,251 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ