นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ได้ติดตามการดำเนินงานโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา โดยได้รับฟังบรรยายสรุปจาก พลเรือโท กฤชพล เรียงเล็กจำนงค์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา พร้อมทั้ง มีการตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดระยองและจันทบุรี
นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) กล่าวว่า บวท.มีหน้าที่เตรียมการเพื่อจัดให้มีบริการจราจรทางอากาศและระบบเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศเพื่อรองรับการเปิดใช้งานเฟสใหม่ โดยอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เพื่อกำหนดพื้นที่ก่อสร้างหอบังคับการบินและจุดวางตำแหน่งระบบอุปกรณ์ต่าง ๆ ในสนามบิน ทั้งนี้ ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,200 ล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อ บวท.จะได้ดำเนินการขอความเห็นชอบการลงทุนและเริ่มดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
รวมถึงยังอยู่ระหว่างการหารือกับกองทัพเรือเพื่อเตรียมการถ่ายโอนงานและบุคลากรให้สามารถเตรียมการได้ทัน รวมถึงการจัดทำข้อตกลงต่าง ๆ เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภามีขีดความสามารถสูงสุดทั้งในภารกิจด้านความมั่นคงของกองทัพเรือและด้านการบินเชิงพาณิชย์
สำหรับการเข้าดำเนินงานของ บวท.ครั้งนี้ มีการจัดเตรียมเทคโนโลยีและระบบอุปกรณ์ทันสมัยต่าง ๆ ที่มีมาตรฐานและศักยภาพระดับสากลเข้าใช้งาน เพื่อให้เชื่อมโยงเข้ากับระบบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศ (TMCS : Thailand Modernization CNS/ATM System) ซึ่งเพิ่งเปิดใช้งานพร้อมกันทั่วประเทศไปเมื่อเดือน ก.พ.63 ที่ผ่านมา
โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเข้ากับระบบควบคุมจราจรทางอากาศเขตสนามบินและเขตประชิดสนามบินของดอนเมืองและสุวรรณภูมิ เพื่อให้เป็นสามสนามบินหลักในพื้นที่ส่วนกลางของประเทศที่อยู่ภายในเขตบริหารจัดการเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งสามสนามบินมีความสะดวกคล่องตัวลดปัญหาความล่าช้าและมีประสิทธิภาพการบินดียิ่งขึ้น
นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า แผนพัฒนาท่ากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ใช้รูปแบบการลงทุน PPP ทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและคล่องตัว ความเชี่ยวชาญจากเอกชน และคุณภาพในการให้บริการ ลดภาระการลงทุนและการใช้ทรัพยากรของรัฐ รวมทั้งลดความเสี่ยงในการลงทุนของรัฐทุก ๆ ด้าน และสามารถนำเทคโนโลยี ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประบการณ์จากเอกชนที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการ โดยมี
วัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อเป็น EEC Airport การเป็นสนามบินระดับโลก การเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค (Aviation Hup) รวมทั้งรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน (3rd Bangkok Airport) และการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีแก่บุคลากร (Technology)
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาด้านการเงิน โครงการพัฒนาสนามบินและเมืองการบินภาคตะวันออก มีมูลค่าเงินลงทุนโครงการ จำนวน 293,699 ล้านบาท และคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 68
นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รักษาการผู้ว่าการ สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กล่าวว่า โครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา ของ สบพ. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยได้รับการจัดสรรพื้นที่จากสำนักงานบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ โดย สบพ. ได้บริหารจัดการพื้นที่ ดังนี้
- สิ่งปลูกสร้างเดิม สาธารณูปโภคในพื้นที่
- การสำรวจด้านปฐพีกลศาสตร์ (การเจาะสำรวจดิน ขุดเก็บตัวอย่างดินจากหลุมทดสอบ งานทดสอบดินด้วยวิธีอัดความดัน ผลการทดสอบในสนาม และในห้องปฏิบัติการ
- การวางผังอาคารเพื่อประหยัดพลังงาน
- หลักเกณฑ์ตามาตรฐานสากลของ ICAO ในเรื่องความสูงอาคาร ต้องไม่เกิน 45 เมตร เนื่องจากโครงการตั้งอยู่ภายนอเขต AIRSIDE ของสนามบิน
- หลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลของ ICAO ในเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากพื้นที่โครงการตั้งอยู่ภายนอกเขตท่าอากาศยาน ดังนั้นข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติตาม ICAO จะมีเพียงเรื่องความสูงของอาคารเท่านั้น
- หลักเกณฑ์การออกแบบอาคาร ต้องยึดหลักตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และกฎหมายว่าด้วยกาควบคุมอาคารอื่น ๆ ของประเทศไทย มาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน กฎหมายว่าด้วยการผลิตพลังงานควบคุม กฎหมายว่าด้วยการสงเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และสถาบันอาคารเขียวไทยและ หรือเกณฑ์มาตรฐานของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design)