BAY มองแนวโน้มบาทอ่อนค่าจากกระแสเงินไหลออก คาดกรอบสัปดาห์นี้ 31.35-31.80 จับตาประชุม"แจ๊คสัน โฮล"

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 24, 2020 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.35-31.80 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.54 บาท/ดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทอ่อนค่าสวนทางสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 5.6 พันล้านบาท และ 3.2 พันล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจ Jackson Hole Symposium ซึ่งเป็นการประชุมเชิงวิชาการของธนาคารกลางจากหลายประเทศโดยประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มักใช้เวทีนี้ส่งสัญญาณการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งสำคัญ ขณะที่คาดว่าในวันที่ 27 ส.ค.นี้ ประธานเฟดอาจกล่าวถึงการพิจารณาทบทวนกรอบนโยบายการเงินของเฟดเพื่อสะท้อนทิศทางนโยบายที่จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากเป็นเวลานานกว่าที่ตลาดเคยคาดไว้ โดยเฟดระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อาจจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินลงอีกเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจและประเมินว่าการฟื้นตัวของการจ้างงานกำลังชะลอตัวและสถานการณ์ของตลาดแรงงานจะขึ้นอยู่กับการเปิดเมืองอีกครั้งอย่างถาวร นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดจะยังคงจับตาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการการคลังชุดใหม่ของสหรัฐฯ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ขยายวงอีกครั้งในยุโรปและเอเชีย

สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนติดตามข้อมูลส่งออกและนำเข้าเดือนกรกฎาคม รวมถึงสถานการณ์ทางการเมือง ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) สำหรับวันที่ 5 ส.ค.โดยระบุว่าดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเป็นประวัติการณ์เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอาจมีประสิทธิผลจำกัด จึงเห็นควรให้รักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนทางการเห็นควรให้ประเมินความจำเป็นของมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเร่งสร้างสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเอื้อให้ภาคเอกชนทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศได้สะดวกขึ้นและลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เสรีขึ้น ซึ่งคาดว่า กระแสเงินทุนไหลออกที่กลับมาเร่งตัวในเดือนนี้มีแนวโน้มกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงต้นสัปดาห์จนกว่าท่าทีของประธานเฟดจะชี้นำทิศทางที่ชัดเจนขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ในระยะถัดไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ