ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการการส่งออกสินค้าไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวที่ 12.0% YoY จากคาดการณ์เดิมที่ -6.1% YoY แม้ว่าการส่งออกไทยในเดือนก.ค. จะหดตัวลดลงเมื่อเทียบกับ 2 เดือนก่อนหน้า แต่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมได้ ขณะที่การพัฒนาวัคซีนแม้ว่าจะมีความคืบหน้าไปบ้าง แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูงและคาดว่าจะใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะสามารถผลิตออกมาใช้อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกยังเผชิญความเสี่ยงอย่างมาก ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวที่พร้อมจะถูกนำมาโยงกับสงครามการค้าได้ทุกเมื่อ จึงเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันการค้าและเศรษฐกิจโลกต่อไปในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าตามแนวโน้มการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะอีกปัจจัยกดดันภาคการส่งออกของไทยช่วงที่เหลือของปีนี้ อนึ่ง การนำเข้าของไทยเดือนก.ค. หดตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ 26.4% YoY โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปหดตัวที่ 24.1% YoY สะท้อนถึงยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกในช่วงสิ้นปีจะยังหดตัวอยู่
อนึ่ง ส่งออกไทยในเดือนก.ค. 2563 อยู่ที่ 18,819 ล้านเหรียญฯ หดตัว 11.4% YoY อย่างไรก็ดี หากหักสินค้าเกี่ยวกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธฯ การส่งออกจะหดตัวที่ 13.0% YoY โดยการส่งออกทองคำพลิกกลับมาขยายตัวในเดือนก.ค. ที่ 37.2% YoY ตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและการบริโภคในต่างประเทศที่ชะลอตัวลง ในขณะที่สินค้าที่การส่งออกยังคงขยายตัวได้ยังคงเป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่มีการขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน เช่น ทูน่ากระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง ถุงมือยาง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ส่งผลให้ 7 เดือนแรก การส่งออกไทยหดตัว 7.7% YoY
หากพิจารณารายตลาดส่งออกของไทย พบว่า สหรัฐฯ เป็นเพียงตลาดหลักตลาดเดียวที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวเป็นบวกในเดือนก.ค. 2563 ที่ 17.8% YoY โดยการส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวได้ดีเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน จากการการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รวมถึงผลิตภัณฑ์ยางที่เพิ่มขึ้นมากเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกของไทยไปยังจีนพลิกกลับมาหดตัวเล็กน้อยในเดือน ก.ค. 2563 ที่ 2.7% YoY เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ รวมทั้งปัญหาอุทกภัยในแหล่งการผลิตสำคัญอย่างมณฑลอู่ฮั่น โดยสินค้าหลักที่หดตัวสูง ได้แก่ เม็ดพลาสติก รถยนต์ และยางพารา