รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 50 (ต.ค. 49 — มิ.ย. 50) ผู้บริโภคได้ร้องเรียนและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับสัญญาการเงินยืมเงิน, สัญญาการทำบัตรเครดิต และการถูกเรียกชำระเงินจากสถาบันการเงินมากถึง 2,387 ราย
เนื่องจากเกรงว่าผู้ประกอบธุรกิจจะดำเนินคดี หรือขึ้นบัญชีดำในกฎหมายเครดิตบูโร จนไม่อาจกู้เงินต่อไป ส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐไกล่เกลี่ยกับสถาบันการเงินโดยขอลดหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยกรณีที่ชำระเงินได้หมด, ตรวจสอบค่าเนียมที่คิดสูงเกินจริง, ยกเลิกบัตรแล้วแต่ยังเก็บค่าธรรมเนียม, ตรวจสอบการเรียกเก็บดอกเบี้ย เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ที่ประสบปัญหาสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเพราะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยโดยมีบัตรเครดิตหลายใบ, กลุ่มผู้ที่เดือดร้อนจริง เช่น ซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิต หรือ จำเป็นต้องนำเงินไปจ่ายส่วนอื่นก่อน ซึ่งจำนวนมากต้องการให้ภาครัฐช่วยเจรจาลดหนี้สิน และกลุ่มถูกเอาเปรียบจึงขอให้ตรวจสอบความถูกต้องของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการทำสัญญาบัตรเครดิต และกู้เงินจากนอนแบงก์
“เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดีนัก โดยยอมรับว่ามีบางรายที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดแต่ก็ไม่กล้าร้องเรียนจึงต้องขอความรู้ด้านกฎหมายเพื่อป้องกันการถูกดำเนินคดี รวมถึงการหาแนวทางในการเจรจาไกล่เกลี่ยกับแบงก์ โดยจำนวน 2,387 รายที่เดือดร้อนแบ่งเป็น ร้องเรียนบัตรเครดิต 74 ราย, ร้องเรียนธุรกิจกู้ยืมเงิน 89 ราย ปรึกษาสัญญากู้ยืม สัญญาบัตรเครดิต กู้ยืมจากนอนแบงก์ 1,654 ราย, กฎหมายชำระหนี้ 495 ราย เป็นต้น ซึ่งแนวทางการเข้ามาปรึกษาข้อกฎหมายการกู้ยืมเงินหรือถูกเรียกให้ชำระหนี้ถือว่าถูกต้องแล้ว เพราะหากไม่เร่งดำเนินการอาจถูกขึ้นบัญชีดำตามกฎหมายเครดิตบูโร ที่จะทำให้เกิดความลำบากต่อการทำธุรกรรมการเงินในภายหลัง"
ที่ผ่านมาผู้บริโภคหลายรายต้องประสบปัญหาการถูกขึ้นบัญชีในระบบเครดิตบูโรโดยไม่ตั้งใจ เช่น กรณีเช่าซื้อรถยนต์จากเต้นท์รถมือสอง เนื่องจากบางเต้นท์นำรถยนต์ที่หนีภาษี หรือ รถโจรกรรมมาจำหน่าย ด้วยการปลอมใบทะเบียนรถ แต่เมื่อผู้ซื้อผ่อนระยะหนึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจพบ และยึดรถ จึงเป็นเหตุให้หยุดผ่อนชำระเงินทันที เพราะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องผ่อนค่างวดรถที่ผิดกฎหมาย ในที่สุดไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินอย่างอื่นได้
ขณะเดียวกันว่า ช่วง 9 เดือนสคบ.ได้รับการร้องเรียนและปรึกษาปัญหาทางโทรศัพท์ จำนวน 15,168 ราย แบ่งเป็นการโฆษณา 687 ราย, สินค้าและบริการ 1,588 ราย, สัญญาและอสังหาริมทรัพย์ 2,006 ราย, ขายตรง 65 ราย และปรึกษาปัญหาทางโทรศัพท์ 10,822 ราย ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยยุติเรื่องร้องเรียน 338 ราย เรียกเงินชดเชย 23 ล้านบาท พร้อมทั้งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อ 664 เรื่อง
“การขอปรึกษาปัญหาทางข้อกฎหมาย 10,822 ราย เช่น ทำสัญญาปลูกสร้างบ้าน, ซื้อขายที่ดินจากกรมบังคับคดีหรือผู้ประกอบการ, สัญญาการกู้เงิน, การซื้อขายรถยนต์มือสอง, ซื้อทรัพย์สินจากการประมูล, การให้บริการสายการบินโดยเฉพาะสยต้นทุนต่ำ, สัญญาจ้างงาน, การแบ่งสินสมรสกรณีที่หย่าร้างกัน รวมถึงสอบถามความคืบหน้าคดีที่ได้ร้องเรียน เป็นต้น"
ทั้งนี้ ยังดำเนินคดีแทนผู้บริโภค 311 รายโดยเป็นผู้ประกอบธุรกิจ 113 ราย เรียกค่าชดเชย 104 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังรับทราบผลดำเนินคดีโดยศาลมีพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค 109 ล้าบาท
--อินโฟเควสท์ โดย รบฦ3/พรเพ็ญ โทร.0-2253-5050 ต่อ 313 อีเมล์: pornpen@infoquest.co.th--