ศ.(พิเศษ) พิภพ วีระพงษ์ Partner บริษัท ลอว์อัลลายแอนซ์ จำกัด แนะนำขั้นตอนและวิธีการคัดค้านและอุทธรณ์การประเมินภาษีที่ดินหากไม่เห็นด้วย โดยระบุว่า ด้วยความที่กฎหมายภาษีที่ดินฯ เริ่มต้นด้วยการประเมินภาษีโดยเจ้าพนักงานประเมิน ไม่ใช่ระบบประเมินตนเองดังเช่นภาษีเงินได้ ดังนั้น ภาระภาษีจึงเริ่มต้นเมื่อผู้เสียภาษีได้รับหนังสือแจ้งประเมินภาษีที่ดินฯ (ภดส.6)
หากผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยกับการประเมินของเจ้าพนักงานก็จะต้องใช้สิทธิที่เรียกว่า "คัดค้านการประเมิน" ต่อผู้บริหารท้องถิ่น หากผู้บริหารท้องถิ่นมีคำวินิจฉัย "ไม่เห็นชอบกับคำคัดค้านการประเมิน" หมายความว่าท่านแพ้ในชั้นคัดค้านการประเมิน ก็มีสิทธิร้องต่อไปในครั้งที่สองเรียกว่า "อุทธรณ์การประเมิน" ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
หากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ "ยกคำอุทธรณ์การประเมิน" ก็ยังมีสิทธิร้องครั้งที่สาม คือ ฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลภาษีอากรกลางต่อไป
สำหรับการคัดค้านการประเมินมีขั้นตอนดังนี้
1. กระบวนการพิจารณาคำคัดค้านการประเมิน
1.1 ยื่นคำร้องคัดค้านการประเมิน อย่าลืมยื่นคำขอทุเลาการเสียภาษีด้วย
ก. ยื่นคำร้อง ภดส.10 ต่อผู้บริหารท้องถิ่น การยื่นคำร้องคัดค้านการประเมินสามารถทำได้ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งประเมิน โดยทำได้ททั้งการยื่นด้วยตนเองใช้แบบคำร้องคัดค้านการประเมิน หรือ ภดส. 10 หรือในเขตกรุงเทพฯ อาจใช้วิธียื่น ภดส.10 ออนไลน์ได้เช่นกัน โดยยื่นพร้อมเอกสาร หลักฐานต่างๆ เท่าที่มีเพื่อสนับสนุนคำร้องคัดค้าน ต่อเจ้าพนักงาน ณ สำนักงานเขตหรือเทศบาลที่ประเมินภาษีที่ดินฯ แปลงหรือหลังนั้นๆ
ข. การยื่นคำร้องขอทุเลาการชำระภาษี เนื่องจากการยื่นคำร้องคัดค้านและอุทธรณ์การประเมิน ไม่เป็นการทุเลาการชำระภาษี หมายความว่ายังมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินฯ แม้จะยื่นคัดค้านการประเมินแล้วก็ตาม ดังนั้น สิ่งที่จะต้องกระทำก็คือการยื่นคำขอทุเลาการชำระภาษีไปพร้อมกัน ไม่เช่นนั้นแล้วอาจถูกยึดอายัดทรัพย์จนกว่าจะนำเงินมาชำระภาษีได้ โดยผู้บริหารท้องถิ่นอาจใช้ดุลพินิจให้ต้องนำหนังสือค้ำประกัน หรือหลักประกันมาวางด้วยก็ได้
ศ.(พิเศษ)พิภพ กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ขอให้สบายใจได้อย่างหนึ่งว่าในระหว่างที่ได้ยื่นคำร้องคัดค้านหรืออุทธรณ์การประเมินภาษีกฎหมายไม่อนุญาตให้มีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของท่านจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งเป็นข้อดีประการหนึ่งของการยื่นคำคัดค้านการประเมิน
1.2 กำหนดเวลาในการพิจารณาคัดค้าน ผู้บริหารท้องถิ่นจะเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาและวินิจฉัยว่าจะเห็นด้วยกับคำร้องคัดค้านการประเมินภาษีที่ดินฯ ของท่านหรือไม่ โดยมีเวลาพิจารณา 60 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับคำร้องคัดค้านฯ หากพิจารณาไม่ทันกำหนดกฎหมายถือว่าผู้บริหารท้องถิ่น "เห็นชอบ" กับคำร้องดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จจะมีคำวินิจฉัย 2 ได้แนวทาง ดังนี้
ก. "เห็นชอบ" กับคำคัดค้านการประเมินภาษีฯก็จะแจ้งคำสั่งให้นำเงินมาชำระภาษีภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งฯ
ข. "ไม่เห็นชอบ" กับคำร้องคัดค้านการประเมินภาษีฯ ก็จะแจ้งให้ท่านทราบเป็นหนังสือเช่นกัน ซึ่งท่านจะมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อไป
สำหรับการอุทธรณ์การประเมิน
- เมื่อได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งไม่เห็นชอบกับคำร้องคัดค้านการประเมินภาษีฯ จากผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว จะมีเวลาอีก 30 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งฯ
- ในการเขียนอุทธรณ์การประเมินภาษีฯ ขอแนะนำให้อ่านหนังสือแจ้งคำสั่งไม่เห็นชอบฯ ที่ได้รับมาโดยละเอียดว่าเหตุผลที่ผู้บริหารท้องถิ่นไม่เห็นด้วยกับคำร้องคัดค้านคืออะไร เพื่อเขียนเหตุผลในคำอุทธรณ์โต้แย้งเหตุผลของผู้บริหารท้องถิ่นได้ครบทุกประเด็น พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบให้ครบถ้วน โดยอาจต้องเพิ่มเติมพยานหลักฐานบางอย่างให้มีน้ำหนักในการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
- กฎหมายกำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้บริหารท้องถิ่น โดยจะต้องทำหน้าที่ในการส่งคำอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อไป
ขณะที่การพิจารณาอุทธรณ์
- ในการพิจารณาอุทธรณ์ จะมีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ในกรุงเทพฯ จะเป็นคณะกรรมการที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ และอธิบดีกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการ ส่วนต่างจังหวัดจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และกรรมการอีกไม่เกิน 12 คน ทำหน้าที่ในการพิจารณาอุทธรณ์
- คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีเวลาพิจารณาอุทธรณ์ 60 วันนับตั้งแต่ได้รับแจ้งคำอุทธรณ์จากผู้บริหารท้องถิ่น โดยสามารถขยายระยะเวลาได้อีก 30 วัน รวมเป็น 90 วัน โดยต้องแจ้งให้ผู้ยื่นอุทธรณ์ทราบก่อน หากพิจารณาไม่แล้วเสร็จตามกำหนด ท่านสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องไปยังศาลได้ทันทีโดยไม่ต้องรอฟังคำวินิจฉัย แต่ต้องฟ้องภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันครบกำหนด 90 วันดังกล่าว
- เมื่อพิจารณาแล้วเสร็จ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อาจมีคำสั่งต่างๆ เช่น สั่งไม่รับอุทธรณ์ ยกอุทธรณ์ เพิกถอน หรือแก้ไขการประเมิน หรือให้ผู้อุทธรณ์ได้รับการลดหรือยกเว้นภาษีหรือได้คืนภาษี แล้วแต่กรณี โดยจะต้องแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันพิจารณาแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ หากผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าวก็สามารถยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรได้ภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัย