EU ปรับเงื่อนไขการนำเข้าสินค้าอาหารประกอบ ป้องกันความเสี่ยงด้านสาธารณสุข มีผลบังคับใช้ เม.ย. 64

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday August 29, 2020 08:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ แจ้งว่า สหภาพยุโรป (EU) ได้ออกระเบียบที่ EU 2020/692 เพื่อปรับเงื่อนไขของระเบียบที่ 2016/429 เกี่ยวกับการกำหนดสินค้าอาหารประกอบ (Composite Product) เป็น 3 กลุ่ม ตามความเสี่ยงด้านสาธารณสุขและสุขภาพสัตว์ ได้แก่ (1) สินค้าที่ไม่สามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิห้อง ต้องมีแหล่งกำเนิดจากประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสัตว์แต่ละรายการเป็นส่วนผสมไปยัง EU และต้องแสดงหนังสือรับรอง (Official Certificate) จากหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศผู้ผลิต (2) สินค้าที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์แปรรูปที่สามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิห้อง ต้องมีแหล่งกำเนิดจากประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกสินค้าเนื้อแปรรูปเป็นส่วนผสมไปยัง EU และต้องแสดงหนังสือรับรอง (Official Certificate) จากหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศผู้ผลิต และ (3) สินค้าที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์แปรรูปที่สามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิห้อง ต้องมีแหล่งกำเนิดจากประเทศที่รับอนุญาตให้ส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากนม หรือผลิตภัณฑ์ประมง หรือผลิตภัณฑ์จากไข่ไปยัง EU และต้องแสดงใบรับรอง (Private Attestation) ซึ่งระบุข้อมูลเกี่ยวกับสาธารณสุขและสุขภาพสัตว์ตามที่กำหนดในระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยระเบียบฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2564 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ สินค้าอาหารประกอบทั้ง 3 กลุ่มข้างต้น จะต้องผ่านการตรวจสอบ Veterinary Check ณ ด่านชายแดน ก่อนนำเข้ามายัง EU สำหรับสินค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ EU จะมีการประกาศข้อยกเว้นเพิ่มเติม ซึ่งอาจกำหนดให้ตรวจสอบ ณ จุดหมายปลายทางแทนได้

แต่อย่างไรก็ดี EU อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบของ Official Certificate และ Private Attestation สินค้าอาหารประกอบ เป็นสินค้าอาหารมนุษย์ที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่มาจากทั้งพืช (Plant Origin) และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสัตว์ (Processed Products of Animal Origin) โดยในปัจจุบันการส่งออกสินค้าอาหารประกอบไปยัง EU จะต้องปฏิบัติตามระเบียบ 2016/429 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขการส่งออกเป็นไปตามสัดส่วนและชนิดของสินค้าอาหารประกอบ ซึ่งปัจจุบันไทยได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากสัตว์บางชนิด เช่น สัตว์ปีก สัตว์น้ำ คอลลาเจน/เจลาตินจากปลาไปยัง EU ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ