นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า คณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA Council) ครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ประเทศฟิลิปปินส์ รับรองแนวทาง(Modality) การยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี(NTBs) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งในการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และรับทราบรายการ NTBs กลุ่มแรกของประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม(ยกเว้นฟิลิปปินส์) จะยกเลิกเป็นในปีหน้า
สำหรับการปรับปรุงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ประเทศสมาชิกได้บังคับใช้หลักเกณฑ์การแปรสภาพอย่างเพียงพอ(Substantial Transformation) ซึ่งได้รับรองไปเมื่อการประชุมครั้งที่แล้วซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการพิจารณาแหล่งกำเนิดสินค้าของสินค้าที่อยู่ภายใต้กรอบการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียน(PIS) นอกเหนือจากการพิจารณาจากสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในอาเซียน(Regional Value Content) และขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ในระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์การแปรสภาพอย่างเพียงพอเพิ่มเติมสำหรับสินค้าอื่นๆ ภายใต้ AFTA เพื่อสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียน
ประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังพิจารณาปรับปรุงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าและระเบียบวิธีปฏิบัติภายใต้ AFTA เพื่อให้มีความชัดเจน เข้าใจง่าย และสอดคล้องกับการพัฒนาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา โดยได้เร่งรัดให้คณะทำงานกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าของอาเซียนพิจารณาดำเนินการต่างๆ ข้างต้นให้เสร็จเรียบร้อยภายในปีนี้ เพื่อจะได้สามารถบังคับใช้ได้ภายในช่วงต้นปีหน้า
ที่ประชุมฯ ยังรับทราบความคืบหน้าของความร่วมมือด้านศุลกากร โดยเฉพาะการใช้ระบบฮาร์โมไนซ์อาเซียน(AHTN) ฉบับปี 50 การปรับปรุงพิธีการศุลกากร การยกร่างพิธีสารแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกสินค้าผ่านแดน และการพัฒนาระบบศุลกากรผ่านแดน(Customs Transit System)
และที่ประชุมฯ เห็นชอบให้มีการปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการใช้อัตราภาษีพิเศษที่เท่ากันสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน(CEPT)ในรูปแบบการจัดทำความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า(TIG) ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่อาเซียนได้ทำกับประเทศคู่เจรจาในการจัดตั้งเขตการค้าเสรี ซึ่งใน TIG นี้จะครอบคลุมถึงประเด็นใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย โดยที่ประชุมฯ มอบหมายให้คณะกรรมการประสานงานการดำเนินการภายใต้ความตกลง CEPT สำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน(CCCA) และเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน(SEOM)ปรับปรุงความตกลง
CEPT ให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอต่อที่ประชุมครั้งต่อไป
ที่ประชุมฯ รับทราบผลการลดภาษีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) ซึ่งปัจจุบันมีประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ(บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) นำสินค้า 99.44% มาไว้ในบัญชีลดภาษี(Inclusion List: IL) แล้ว โดยสินค้า 98.67 ของจำนวนดังกล่าวมีอัตราภาษี 0-5% ขณะที่ประเทศสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ(กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) นำสินค้า 97.32% มาไว้ใน IL แล้วเช่นกัน โดยสินค้า 86.21% ของจำนวนดังกล่าวมีอัตราภาษี 0-5% ในปีนี้
ส่วนการลดภาษีลงเหลือ 0% ตามพันธกรณีของประเทศสมาชิกอาเซียนในช่วงปีที่ผ่านมาได้ทำให้อัตราเฉลี่ยของอัตราภาษีภายใต้ AFTA อยู่ที่ระดับ 1.59% สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ และ 4.4% สำหรับประเทศสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ
ขณะที่ปริมาณการค้าโดยรวมของอาเซียนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 49 การส่งออกได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตรา 16.5% จากปี 48 เป็น 758.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 13% จากปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 654.88 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในส่วนของไตรมาสแรกของปีนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีการส่งออกเพิ่มขึ้น 10.1% และมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านปริมาณการค้าระหว่างกันของประเทศอาเซียนเมื่อปี 49 การส่งออกเพิ่มขึ้น 15.3% จากปี 48 เป็น 189.12 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 163.69 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 15.8% ส่วนไตรมาสแรกของปีนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีการส่งออกเพิ่มขึ้น 10.8% และนำเข้าเพิ่มขึ้น 4.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และสาธารณรัฐเกาหลี ยังคงเป็นคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน ซึ่งส่วนแบ่งปริมาณการค้าของอาเซียนกับประเทศคู่ค้าดังกล่าวเมื่อปีก่อนคิดเป็นสัดส่วน 11.55%, 11.52%, 11.43%, 9.97% และ 3.73% ตามลำดับ
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--