ศูนย์วิเคราะห์ฯแบงก์กรุงเทพ เชื่อส่งออกปีนี้จะผ่านภาวะเศรษฐกิจซบเซาได้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 10, 2007 12:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ คาดภาวะการส่งออกของไทยในปีนี้จะสามารถฟันฝ่าภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาไปได้ โดยคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 15% เนื่องจากมีปัจจัยหนุนจากการส่งออกไปยังตลาดที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าสูง, การขยายตลาดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และสินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็น supply chain ของญี่ปุ่น แม้ตลาดส่งออกหลักของไทยอย่างสหรัฐจะมีภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และเผชิญปัญหาเงินบาทผันผวนแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง
"การส่งออกเป็นเพียงกลไกเดียวที่สามารถฝ่าด่านเศรษฐกิจซบได้อย่างแน่นอน ในครึ่งหลังของปียังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากครึ่งแรกของปี แต่น้อยกว่าประมาณ 12-14% จาก 18.6% ในครึ่งปีแรก โดยคาดว่าตลอดทั้งปีจะขยายตัวประมาณ 15%" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
สาเหตุที่การส่งออกของไทยยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากสามารถขยายการส่งออกไปยังประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าสูง และสกุลเงินท้องถิ่นปรับตัวในช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีนและญี่ปุ่น ตลาดสำคัญรองมาคือ มาเลเซีย, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, อังกฤษ, เยอรมนี, อินเดีย, อิตาลี เป็นต้น แต่ผู้ส่งออกของไทยต้องระวังเพราะทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะซบเซากว่าที่คาดอาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงไทย
นอกจากนี้ การขยายตลาดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ส่งออกสามารถกระจายตลาดได้มากขึ้น และได้ราคาดีกว่าในตลาดหลักแม้ปริมาณการสั่งซื้อแต่ละครั้งจะมีปริมาณน้อยกว่า โดยตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ได้แก่ เอเชียใต้, ตะวันออกกลาง, ยุโรปตะวันออก, อเมริกาใต้ และทวีปแอฟริกา เป็นต้น
โดยสินค้าส่งออกหลักส่วนใหญ่เป็น Supply Chain ของญี่ปุ่น โดยกระจุกตัวอยู่ในสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งทั้ง 3 รายการมียอดการส่งออกสูงถึง 24.6% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย
"การส่งออกจึงขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจและการค้าของญี่ปุ่นเป็นสำคัญ ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดสหรัฐไม่มากนัก เนื่องจากมีการกระจายไปยังตลาดที่มีศักยภาพสูง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
สำหรับสินค้าที่เติบโตได้ดีในภาวะบาทแข็ง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, เม็ดพลาสติก, เคมีภัณฑ์,เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์พลาสติก, ข้าว, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น แต่มีบางสินค้าที่ยังมีความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ,ผลิตภัณฑ์ยาง, กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง, รองเท้าและชิ้นส่วน, เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารในครัวและบ้านเรือน, แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เป็นต้น
ส่วนอุตสาหกรรมส่งออกที่อยู่ในจุดเสี่ยงสูงส่วนใหญ่จะมีลักษณะรับจ้างผลิต, ทำธุรกิจแบบผูกขาดกับการส่งออกจนเกินความจำเป็น โดยเฉพาะผูกขาดการส่งออกกับประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่หากส่งออกไปยังหลายประเทศจะช่วยกระจายความเสี่ยงเรื่องค่าเงินได้, ธุรกิจที่ผลิตสินค้าเพียงตัวเดียว และใช้วัตถุดิบภายในประเทศสูง
"อุตสาหกรรมที่มีลักษณะดังกล่าวจะมีการแข่งขันด้านต้นทุนเป็นหลักโดยเฉพาะค่าจ้างแรงงาน ซึ่งผู้ซื้อหลักจะมีอำนาจสูงในการกำหนดราคาและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ผูกโยงกับส่งออก และหากมีประเทศอื่นที่สามารถผลิตสินค้าในแบบเดียวกันได้ถูกกว่าก็จะย้ายไปจ้างแทน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยมีประเด็นน่าเป็นห่วง 3 ประการ คือ ผู้ประกอบการไทยและภาครัฐปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง, ขาดความชัดเจนในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศ และมีปัญหาการบริหารจัดการ ทั้งด้านการผลิต การตลาด และการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ