นายคริสโตเฟอร์ ด็อดด์ คณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภาสหรัฐเปิดเผยว่า นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่าเขาจะใช้ "มาตรการที่มีอยู่ทั้งหมด" เพื่อบรรเทาความตื่นตระหนกและพลิกฟื้นวิกฤตการณ์ในตลาดสินเชื่อและตลาดซับไพรม์ของสหรัฐ
นายด็อดด์เปิดเผยเรื่องดังกล่าวภายหลังเข้าประชุมเฉพาะกิจร่วมกับนายเบอร์นันเก้และนายเฮนรี่ พอลสัน รมว.คลังสหรัฐ โดยนายด็อดด์กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้ออกมา "เป็นบวก" และเขาได้เรียกร้องให้เบอร์นันเก้และรมว.พอลสันดำเนินการทุกอย่างที่จำเป็น ไม่ใช่เพียงเฝ้าระวังความผันผวนในตลาดเท่านั้น
ในการประชุมครั้งนี้ นายเบอร์นันเก้กล่าวว่า เขาตั้งใจที่จะใช้มาตรการทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อพลิกฟื้นวิกฤตการณ์ในตลาดสินเชื่อและตลาดซับไพรม์ อย่างไรก็ตาม เบอร์นันเก้ไม่ได้พูดถึงแนวทางใดแนวทางหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง อาทิ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยประเภทระยะสั้น และไม่ได้ระบุนโยบายที่เป็นทางเลือกอย่างเฉพาะเจาะจงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นายด็อดด์ได้กล่าวชื่นชมเฟดที่ได้ดำเนินการหลายๆอย่างเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รวมถึงการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบและปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน โดยเขากล่าวว่า "ผมเชื่อว่าสิ่งที่เฟดดำเนินการในช่วง 2-3 วันมานี้เป็นการดำเนินการด้วยความรับผิดชอบและคาดว่าเฟดจะยังดำเนินการต่อไป"
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กดดันให้รมว.พอลสันเปิดทางให้บริษัทแฟนนี เม และบริษัทเฟรดดี แม็ค สามารถถือครองหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้จำนองได้มากขึ้น หลังจากที่นายพอลสันปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวไปเมื่อก่อนหน้านี้ โดยให้เหตุผลว่าคณะทำงานของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช มองสถานะของแฟนนี เม และเฟรดดี แม็คในขณะนี้ว่า ทั้ง 2 บริษัทควรปฏิรูปโครงสร้างก่อนเพิ่มทุนจดทะเบียน
นายด็อดด์ยืนยันว่า เขาจะกดดันนายพอลสันในเรื่องนี้ต่อไป และได้แสดงความผิดหวังที่คณะทำงานบุชไม่เปิดทางให้มีสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่นายพอลสันชี้แจงว่า การเพิ่มทุนจดทะเบียนจะทำให้สภาพคล่องเข้าสู่ตลาดซับไพรม์ไม่มากนัก และไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
นอกจากนี้ นายด็อดด์กล่าวว่า เขาต้องการให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ให้อันดับเครดิตบริษัทหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจปล่อยกู้จำนองในระดับที่สูงเกินไปนั้น ปรับลดอันดับลง สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--