นักวิชาการลุ้น IMF ใช้ช่วงซับไพร์มจัดระเบียบเฮดจ์ฟันด์/เตือนธปท.รับมือ

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday August 19, 2007 10:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นักวิชาการเห็นว่าไอเอ็มเอฟเร่งจัดระบบการเงินทั่วโลกเพื่อรับมือกองทุนประเภทเก็งกำไร(เฮดจ์ฟันด์)ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วโลกและสร้างความผันผวนต่อระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรหามาตรการรับมือค่าบาทแข็งในอนาคตเมื่อปัญหาซับไพร์มคลี่คลาย
นายสมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม กล่าวว่า ไอเอ็มเอฟน่าจะเร่งจัดระบบการเงินของโลกใหม่ ให้เกิดความโปร่งใสต่อการบริหาร เพื่อลดปัญหาการเก็งกำไรของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ซึ่งปัจจุบันมีหลายกองทุนลงทุนอย่างไร้วินัย ทั้งการเก็งกำไรในค่าเงิน น้ำมันและสินค้าอื่น ที่สร้างความปั่นป่วนกับระบบเศรษฐกิจทั่วโลก
“ส่วนปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ปล่อยให้ลูกหนี้คุณภาพต่ำ (ซัพไพร์ม) ในสหรัฐอเมริกา อาจเกิดปัญหาความรุนแรงมากกว่าที่คิดก็ได้ แต่ตอนนี้เชื่อว่าเงินทุนในหลายกองทุนหดหายจากภาวะขาดทุน ดังนั้นอยากให้ไอเอ็มเอฟต้องเร่งจัดระบบใหม่โดยเฉพาะในสหรัฐฯมีเฮจฟันด์จำนวนมากเหมือนดอกเห็ด ซึ่งหากให้มีการบริหารจัดการความโปร่งใสก็จะลดระบบการเก็งกำไรลง และที่สำคัญจะลดแรงกดดันต่อภาวะเศรษฐกิจด้วย"นายสมภพ กล่าว
นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาซัพไพร์มในสหรัฐว่า รัฐบาล และธปท. ควรเตรียมมาตรการบริหารจัดการรองรับปัญหาเงินดอลลาร์ทื่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง และการเข้ามาของกองทุนเฮจฟันด์ในอนาคต เนื่องจากความไม่มั่นใจเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในประเทศกลุ่มเอเซียเนื่อง เบื้องต้นแม้การเคลื่อนย้ายเงินทุนจะไม่ร้อนแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ไม่อยากให้ประมาทเพราะความผันผวนเพียงนิดเดียวก็กระทบต่อภาคธุรกิจไทยได้
“เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปกติเชื่อว่ากองทุนเฮจฟันด์หรือนักเก็งกำไรคงต้องเร่งสร้างกำไร หลังจากที่ต้องขาดทุนกรณีที่ของปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีสิทธิที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในประเทศ ซึ่งผลที่ตามมาคือจะกดดันให้ค่าเงินสหรัฐฯอ่อนตัวลง ขณะที่นักลงทุนจำนวนมากก็มาลงทุนในเอเซีย"
นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินกล่าวว่า ปัจจุบันนักลงทุนและกองทุนต่าง ๆ ถือเงินสดไว้ในมือเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่มั่นใจสถานการณ์เศรษฐกิจของโลก แต่หลังจากคลายความกังวลจากปัญหาซัพไพร์มแล้ว ก็อาจหันมาลงทุนในเอชียมากขึ้น เพราะไม่มั่นใจในการถือครองสินทรัพย์หรือตราสารการเงินในรูปดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้แรงกดดันที่ทำให้เงินบาทแข็งค่ามีเพิ่มขึ้น
“ยอมรับว่านักลงทุนได้ถอนเงินจากกองทุนหรือตลาดหุ้นเพื่อเก็บเงินสดไว้มากสุด ซึ่งแม้ว่าตอนนี้ค่าเงินบาทกำลังปรับตัวอ่อนลง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไม่ประมาทกับเหตุการณ์ในอนาคตหลังจากทั่วโลกเลิกวิตกกับเรื่องซับไพร์ม เพราะต้องมีเงินอีกจำนวนมากไหลเข้ามาเอเซีย ซึ่งไทยก็เป็นประเทศหนึ่ง"นายโชติชัย กล่าว
ทั้งนี้จากการสอบถามนักวิเคราะห์ทั่วโลกส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาซับไพร์มของสหรัฐฯจะไม่ลุกลามจนทำลายเศรษฐกิจโลก จึงไม่อยากให้ตื่นตะหนกมากนัก โดยเฉพาะในเอเซียเนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี มีการลงทุนระหว่างประเทศพอสมควร และฐานะการเงินตลอดจนสภาพคล่องอยู่ในระดับมากพอสมควร และสำคัญเอเซียยังเป็นแหล่งที่น่าลงทุนซึ่งเป็นทางเลือกที่ทดแทนตลาดสหรัฐฯได้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และอัตราแลกเปลี่ยน
สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไทยยังขยายตัวอย่างปกติ โดยยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 50 วงเงิน 682,447 ล้านบาท เพิ่มจากไตรมาสแรก 3.08% ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงนี้
อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยบางตัวยังขัดแย้งกัน โดยดัชนีบ้านเดี่ยวลดลง 3.5% ดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์ลดลง 0.7% ดัชนีราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 2.7% ดังชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินเพิ่มขึ้น 0.2% ดัชนีราคาทาวเฮ้าส์พร้อมที่ดินเพิ่มขึ้น 1.3% ซึ่งผู้ประกอบการกำลังปรับตัวในการทำโครงการ โดยการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเริ่มลดลงต่อเนื่อง โดยสิ้นเดือน พ.ค. ที่อยู่อาศัยที่จดทะเบียนเพิ่มในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 30.9% โดยเป็นการลดลงของบ้านเดี่ยว 19.7% การขออนุญาตจัดสรรที่ดินลดลง 54.2% เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ