นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เพิ่มอีก 2 รายการ คือ ลูกหยียะรัง จังหวัดปัตตานี และข้าวหอมมะลิพะเยา จังหวัดพะเยา ทำให้ปัจจุบันสินค้าจีไอของไทยที่ประกาศขึ้นทะเบียนแล้ว 130 รายการ
สำหรับลักษณะเด่นของสินค้าทั้ง 2 รายการคือ ลูกหยียะรัง ขึ้นทะเบียนจีไอทั้งแบบผลและแบบแปรรูป มี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ลูกหยีพันธุ์ทวยหรือทวยงาช้าง และพันธุ์หยีธรรมดาหรือหยีบ้าน มีผลใหญ่ ผิวเปลือกบาง สีดำ เนื้อในหนา ยุ่ย สีแดงหรือแสด รสชาติเปรี้ยวอมหวานหรือเปรี้ยวอมฝาด ปลูกใน จ.ปัตตานีมากว่า 100 ปี ประกอบกับภูมิปัญญาชาวบ้านในการเก็บรักษาผลลูกหยี และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ลูกหยีทรงเครื่อง ลูกหยีฉาบ ลูกหยีกวน ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ อันเป็นสูตรดั้งเดิม ที่คนในพื้นที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา
ส่วนข้าวหอมมะลิพะเยา ขึ้นทะเบียนจีไอครอบคลุมทั้งข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว ที่แปรรูปมาจากข้าวหอมมะลิพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 เมล็ดข้าวสารมีรูปร่างเรียว ยาว เมล็ดใส เมื่อหุงแล้วนุ่ม มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย แม้ทิ้งไว้นานก็ยังคงกลิ่นหอม ปลูกในพื้นที่ลุ่มล้อมรอบด้วยเทือกเขาหรือแอ่งที่ทับถมด้วยตะกอนแม่น้ำทำให้ดินมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ โดยจังหวัดพะเยานับเป็นหนึ่งในแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทยมาอย่างช้านาน
"การขึ้นทะเบียนสินค้าให้เป็นสินค้าจีไอจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้เป็นอย่างดี เพราะสินค้าจีไอเป็นสินค้าที่ผลิตได้เฉพาะท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งเท่านั้น เพราะมีลักษณะภูมิประเทศ ดิน น้ำ อากาศ ที่เอื้ออำนวย หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิต จึงกลายเป็นของดี หายาก และราคาแพง ทำให้ชุมชน ผู้ผลิต เกษตรกร ที่เป็นเจ้าของสามารถขายสินค้าได้ในราคาสูงขึ้น" นายวีรศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอรายการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก รวมถึงส่งเสริมความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จากตราสัญลักษณ์จีไอในเชิงพาณิชย์ การคุ้มครองและควบคุมคุณภาพ สนับสนุนช่องทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการ ทั้งออฟไลน์และออกไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 15-18 ก.ย.นี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้จัดงาน"จีไอ มาร์เก็ต" ที่ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ โดยนำสินค้าจีไอทั่วประเทศ มาจัดแสดงและจำหน่ายตรงถึงมือผู้บริโภค