นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยภายหลังการประชุมจัดลำดับความสำคัญโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ว่า ที่ประชุมได้หารือร่วมกับผู้แทน สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการขับเคลื่อนโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการ ระยะทาง 1,483 กม.วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.73 แสนล้านบาท ได้แก่ ปากน้ำโพ-เด่นชัย, เด่นชัย-เชียงใหม่, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ โดยเห็นตรงกันว่าสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และเพดานหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น ควรลงทุนเฉพาะโครงการที่จำเป็น และให้จัดลำดับโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับกรอบวงเงินงบประมาณและความสามารถในการลงทุนของประเทศ โดยคำนึงถึงยุทธศาสตร์ชาติ เป้าหมายในการขนส่งสินค้าที่เปลี่ยนโหมดจากถนนสู่ราง ปริมาณผู้โดยสารและสินค้า ความพร้อมของโครงการ การเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อบ้าน (Connectivity)
สำหรับเส้นทางที่จะมีการผลักดันก่อนคือ ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 169 กม. มูลค่าโครงการ 26,663.26 ล้านบาท เพราะถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากเชื่อมต่อกับสปป.ลาว ที่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมไปยังประเทศจีนตอนใต้ เปิดบริการใน มี.ค. 2564 นอกจากนี้ยังมีความพร้อมที่สุด เพราะมีการออกแบบแล้ว ได้รับอนุมัติ EIAแล้ว คาดการณ์ปริมาณสินค้าในปี 2580 ที่ 12 ล้านตัน/ปี มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 19%
ทั้งนี้ให้รฟท.เร่งตรวจสอบแบบรายละเอียด ขอบเขตโครงการ และรวมโครงการ ICD Port ที่ บ้านนาคา จ.หนองคายซี่งมีพิธีการศุลกากร รองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ซึ่งอาจจะส่งผลให้มูลค่าโครงการเพิ่มขึ้น และสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมโดยเร็ว เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอครม.ต่อไป
สำหรับอีก 6 เส้นทางที่เหลือที่ประชุมมอบกรมราง ทบทวนการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันทุกปัจจัย โดยจะคาดการณ์ปริมาณสินค้า จำนวนผู้โดยสาร EIRR รวมถึงเหตุผลความจำเป็น ในการดำเนินโครงการ คาดว่าจะทบทวนเสร็จภายใน 3 เดือนหรือในเดือน ธ.ค. 2563
"จะนำข้อมูลเดิมมาดูใหม่ ออกแบบสถานีใหญ่เกินไปหรือ บางสถานีจำเป็นต้องมีหรือไม่ ปรับลดได้หรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนก่อสร้างโครงการที่ลดลง"
ส่วนความคืบหน้าการขอขยายวงเงินดำเนินงานโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต เพิ่มเติมประมาณ 10,345 ล้านบาท นายสรพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดกรณีงานก่อสร้างเพิ่มเติม หรือ Variation Order (VO) ในสัญญาที่ 1(งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง) ได้ดำเนินการถูกต้องตามอำนาจหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงคมนาคมตั้งคณะทำงานขึ้น 3 ชุด เพื่อพิจารณาในประเด็นข้อกฎหมาย (พิจารณาการสั่งการVO) ด้านเทคนิค(พิจารณาเนื้องานที่จำเป็นและความปลอดภัยในการเดินรถ) และด้านการเงิน (พิจารณาแหล่งเงินเพิ่มเติม) โดยจะเร่งสรุปภายใน 2 เดือนตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม