นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ออก "มาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบการหลังสถานการณ์โควิด-19"เพื่อเข้าไปดูแล ช่วยเหลือ สนับสนุนลูกค้าที่จำแนกได้เป็น 4 กลุ่ม ตามความต้องการของกิจการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดังนี้
1. ผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มเติบโตได้ EXIM BANK จะ "ส่งเสริม" ให้มีสภาพคล่องเพียงพอและมีความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง
2. ผู้ประกอบการที่มีรายได้ลดลง แต่สามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง EXIM BANK จะ "ผ่อนปรน" เงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการชำระเงินต้นได้หมด รวมทั้งสามารถขอสินเชื่อเพิ่มได้
3. ผู้ประกอบการที่ต้องการการ "ขยายระยะเวลา" การชำระคืนหนี้ เพื่อรอให้กิจการผ่านพ้นวิกฤต หรือต้องการการปรับปรุงโครงสร้างการผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยบางส่วน
4. ผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ EXIM BANK จะเข้าไปช่วยเหลือ "ประคับประคอง" เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงการชำระหนี้ ช่วยชะลอการเกิดหนี้ NPLs
โดยลูกค้า EXIM BANK สามารถขอขยายระยะเวลา เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระเงินกู้ให้สอดคล้องกับธุรกิจ และขอรับวงเงินสินเชื่อเพิ่มได้ ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 ธันวาคม 2564
สาเหตุของการออกมาตรการดังกล่าวเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังยืดเยื้อและลุกลามไปทั่วโลกส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบทุกภาคส่วนหยุดชะงักลง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกคาดการณ์ว่า GDP โลกปี 2563 จะหดตัว 4.9% และ 5.2% ตามลำดับ ซึ่งเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบกว่า 90 ปี สำหรับประเทศไทยเศรษฐกิจโลกที่หดตัวอย่างรุนแรงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งอ่อนไหวต่อวิกฤตและความไม่แน่นอนสูง สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกของ SMEs ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 หดตัว 17.9% มากกว่ามูลค่าส่งออกรวมของประเทศไทยในช่วงเวลาเดียวกันที่หดตัว 7.1%
"EXIM BANK ได้ติดตามสถานการณ์ผลกระทบของโควิด-19 อย่างใกล้ชิดและพบว่า ลูกค้าที่ได้รับการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดนาน 6 เดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวนกว่า 20% ยังไม่สามารถผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ และต้องการให้ธนาคารผ่อนปรนเงื่อนไขและขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ ขณะที่บางกิจการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้แต่ต้องการเงินทุนเพิ่ม และบางรายอาจยังขาดสภาพคล่อง EXIM BANK จึงพร้อมสนับสนุนสภาพคล่องและเข้าไปดูแลปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามความต้องการของลูกค้า เพื่อให้ธุรกิจส่งออกของไทย โดยเฉพาะ SMEs ค่อย ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติและเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง นำไปสู่การจ้างงานและการพัฒนาประเทศของไทย" นายพิศิษฐ์กล่าว