ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด GDP ไตรมาส 2 โต 4.3%,ทั้งปี 50 โต 4.3-4.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 30, 2007 15:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/50 เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 4.3% ใกล้เคียงกับไตรมาสแรก ส่วนในระยะต่อไปยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน โดยแนวโน้มช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4.0-4.5% ใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 4.3% ส่งผลให้ทั้งปีเศรษฐกิจขยายตัวในช่วง 4.3-4.5% ลดลงจากปี 49 ที่ขยายตัว 5.0%
ช่วงไตรมาส 2/50 การใช้จ่ายภายในประเทศยังคงถูกกระทบจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง และการปรับลดความเชื่อมั่นของภาคเอกชน แต่การส่งออกยังขยายตัวในอัตราสูงใกล้เคียงกับไตรมาสแรก และเป็นแรงผลักดันสำคัญของเศรษฐกิจไ ขณะที่การนำเข้าแม้จะขยายตัวสูงขึ้น แต่ยังขยายตัวน้อยกว่าการส่งออก ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงเกินดุล และทำให้เงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้น
สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน แม้ว่าการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.25% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งล่าสุดเมื่อวานนี้จะสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของธปท.ต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้ในระดับหนึ่ง
นอกจากนั้น การใช้จ่ายในประเทศน่าจะได้รับผลดีจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการรับร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติ ตลอดจนการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ (ก.ค.-ก.ย. 2550) รวมทั้งการใช้จ่ายในประเทศที่น่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้ง และการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องรวมทั้งสิ้นห้าครั้ง
อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่ชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 50 คงจะส่งผลกดดันต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ในขณะที่ปัญหาซับไพร์มของสหรัฐฯได้ส่งผลกระทบและสร้างความผันผวนต่อทั้งตลาดทุนและอัตราแลกเปลี่ยน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าความไม่แน่นอนเกิดขึ้นทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ โดยปัจจัยภายนอกประเทศที่สำคัญคือ ผลกระทบจากปัญหาซับไพร์มของสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อเนื่องไปยังการส่งออกของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งไทย ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐต่อ GDP คิดเป็น 25% ของสัดส่วนการส่งออกต่อ GDP ของไทยทั้งหมดที่ 62%
ส่วนปัจจัยความไม่แน่นอนภายในประเทศ เป็นเรื่องของความชัดเจนทางด้านการเมือง ได้แก่ เสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง รวมทั้งการดำเนินการพิจารณากฎหมายธุรกิจที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และพ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง เป็นต้น ทำให้คาดว่านักลงทุนอาจจะยังคงรอดูความชัดเจนก่อนจะตัดสินใจ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการลงทุนทั้งในช่วงที่เหลือของปี 50 และในปี 51 ได้
ขณะเดียวกันความล่าช้าของโครงการรถไฟฟ้า รวมทั้งการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ต่ำกว่าเป้า ก็อาจกระทบต่ออัตราการขยายตัวของการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 50 และอาจต่อเนื่องไปจนถึงปี 51 เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่
นอกจากนี้ การลงทุนของภาครัฐและเอกชนยังน่าที่จะเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว (long-term bond yields) ที่ได้ปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ปลายเดือนพ.ค.หลังจากที่ตลาดเงินตีความความเห็นของกนง.ว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศอาจจะไม่ปรับลดลงอีก ขณะที่สภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงถูกกระทบจากมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ของ ธปท. รวมทั้งจากภาวะความผันผวนของตลาดทุนอันเนื่องมาปัญหาซับไพร์มของสหรัฐฯ
ขณะเดียวกันปริมาณอุปทานตราสารหนี้ที่จะทยอยเข้าสู่ตลาดก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล และพันธบัตรที่ออกเพื่อการปรับโครงสร้างการกู้ยืมของกองทุนฟื้นฟูฯ เนื่องจากธปท.กำลังจะปิดตลาดซื้อคืนพันธบัตรลงภายในปลายปี 50 ซึ่งน่าจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวดังกล่าวทรงตัวในระดับที่สูงต่อไปทั้งในช่วงที่เหลือของปี 50 และปี 51

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ