นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมออนไลน์เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (The 38th Senior Officials Meeting on Energy and Associated Meetings : The 38th SOME) ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 27 สิงหาคม 2563 ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยการประชุมครั้งนี้มีประเด็นการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
1. การกำหนดแนวทางการดำเนินงานในแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียนระยะที่ 2 (APAEC PHASE II) ซึ่งจะใช้ในปี 2021-2025 พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียนระยะที่ 1 (APAEC PHASE I) และโครงการที่จะดำเนินการต่อเนื่องไปในอนาคต ที่อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือ 7 สาขา คือ ความร่วมมือด้านไฟฟ้า ความร่วมมือด้านปิโตรเลียม ความร่วมมือด้านถ่านหิน ความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน ความร่วมมือด้านการอนุรักษ์พลังงาน ความร่วมมือด้านนโยบายและแผนพลังงาน และความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ โดยมุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมทางพลังงานในการขับเคลื่อนสาขาพลังงานในยุคเปลี่ยนผ่าน (Energy transition)
2. การอภิปรายแนวโน้มและสถานการณ์พลังงานโลก ปัญหาที่เผชิญและแนวทางการฟื้นฟูทางด้านพลังงานภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นประเด็นที่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา รวมถึงองค์กรด้านพลังงานระหว่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ส่งผลในวงกว้างต่อเศรษฐกิจการจ้างงานและรูปแบบการใช้และจัดหาพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือแนวทางการรับมือในกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจมีผลกระทบต่อด้านพลังงานในอนาคตอีกด้วย
3. ประเทศไทยได้เสนอนโยบาย "พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ" ซึ่งเป็นนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเป็นแนวทางในการกระตุ้นการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเพิ่มอัตราการจ้างงานภายในภูมิภาค
"ประเทศผู้เข้าร่วมการประชุมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งให้การสนับสนุนโยบายดังกล่าว เพราะจะเป็นแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สำคัญ และก่อให้เกิดการจ้างงานภายในภูมิภาค โดยจะเตรียมเสนอต่อที่ประชุมในระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 38 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 พฤศจิกายน 2563 นี้ต่อไป" ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว
ทั้งนี้ กล่าวโดยสรุปการประชุมในครั้งนี้เน้นประเด็นที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงานภายในภูมิภาค การส่งเสริมการค้าขายพลังงานทั้งด้านไฟฟ้าและ LNG การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน การรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคพลังงานในอนาคต รวมถึงการกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานเพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่ยุคพลังงานสะอาด เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รวมทั้งให้มีความสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย