บัวหลวงมองลงทุนตปท.เพิ่มทางเลือก-ผลตอบแทน แต่ระวังปัจจัยเสี่ยงแต่ละที่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 8, 2007 18:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บลจ.บัวหลวงและบล.บัวหลวง มองการลงทุนต่างประเทศเป็นการเพิ่มทางเลือกการลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น และเป็นการกระจายความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยมีความไม่แนนอนจากอัตราแลกเปลี่ยนและการเมือง แต่ควรต้องศึกษาปัจจัยในแต่ละประเทศให้รอบคอบ เพราะถือเป็นความเสี่ยงที่แตกต่างกัน 
นางวรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า การลงทุนในประเทศและต่างประเทศมีปัจจัยที่ต้องเผชิญแตกต่างกัน 2 อย่างคือ อัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงของประเทศที่จะเข้าไปลงทุน โดยในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนหากผู้ลงทุนป้องกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้าก็สามารถลดความเสี่ยงในจุดนี้ได้ ขณะที่ความเสี่ยงของแต่ละประเทศที่จะเข้าไปลงทุนนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนต้องศึกษาอย่างและวิเคราะห์อย่างรอบคอบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม
ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าการไปลงทุนในต่างประเทศถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะสามารถกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงและยังได้รับผลตอบแทนสูงในอัตราที่เหมาะสม นอกจากนี้การที่ประเทศไทยบริโภคสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี หากมีโอกาสเข้าไปร่วมลงทุนก็เปรียบเหมือนได้ร่วมเป็นเจ้าของบริษัทเหล่านั้นที่เป็นการกระจายความมั่งคั่งได้
อย่างไรก็ดี การที่นักลงทุนไทยจะไปลงทุนในต่างประเทศนั้น กฎเกณฑ์ของไทยเองยังไม่เปิดกว้างมากพอที่จะให้นักลงทุนสามารถไปลงทุนเองได้โดยตรง ประกอบกับศักยภาพของผู้ลงทุนยังไม่มากพอ ดังนั้นจึงต้องอาศัยการลงทุนผ่านกองทุนต่างๆ และอาศัยมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารกองทุน ซึ่งวิธีการจะเลือกกองทุนให้เหมาะสมกับตัวเองนั้นต้องพิจารณาจากความคาดหวังของผลตอบแทนที่จะได้รับและสามารถรับความเสี่ยงได้มากเพียงใด
ด้านนายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง(BLS) กล่าวว่า หากจะมองว่าการลงทุนในต่างประเทศขณะนี้มีความเสี่ยงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับมุมมองของนักลงทุนแต่ละคน เนื่องจากความเสี่ยงในการเข้าไปลงทุนของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกัน อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเวลาด้วย ซึ่งช่วงเวลาที่แตกต่างก็จะทำให้โอกาสในการเข้าไปลงทุนแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกันด้วย
ทั้งนี้หากพิจารณาแล้วจะเห็นว่าแม้ P/E ของไทยยังต่ำ แต่กลับมีความเสี่ยงสูงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนและปัญหาการเมืองที่ถือเป็นประเด็นสำคัญ ดังนั้นการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศจึงถือเป็นการเพิ่มทางเลือก ซึ่งต้องพิจารณาจังหวะเวลา และเงื่อนไขของประเทศที่จะไปลงทุนประกอบกันด้วย ซึ่งหากผู้ลงทุนไม่มีความเชี่ยวชาญก็ควรจะลงทุนผ่านกองทุนที่ไว้ใจได้เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้แก่ธุรกิจ
นายญาณศักดิ์ ยังกล่าวถึงแนวโน้มค่าเงินบาทว่า ในระยะสั้นคงมีโอกาสน้อยที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่ามากขึ้นไปอีก เนื่องจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กระตุ้นให้เงินดอลลาร์ออกไปนอกประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่ไทยยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 7.3 หมื่นล้านเหรียญ ประกอบกับเอกชนทำรีไฟแนนซ์เงินกู้ต่างประเทศ ซึ่ง 2 ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยให้เงินบาทไม่แข็งค่ามากในระยะเวลาอันสั้น แต่ระยะยาวมีโอกาสที่เงินบาทจะแข็งค่าได้อีกเล็กน้อย
ดังนั้นเมื่อเทียบแล้วความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนในปีนี้จะไม่มากนัก เมื่อเทียบกับช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เพราะนักธุรกิจต่างหันมาให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงมากจากอัตราแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ