นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการสัมมนา "สรุปผลการศึกษาโครงการศึกษาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และออกแบบการพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อรองรับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการขับเคลื่อนแผนพลังงานของประเทศไทย"ว่า แนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์และการออกแบบในการจัดตั้ง "ศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ" (National Energy Information Center : NEIC) ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการศึกษาและขณะนี้มาถึงบทสรุปผลการศึกษาของโครงการฯ แล้ว
การจัดสัมมนาในวันนี้ (9 ก.ย.) เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ร่วมให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมก่อนที่จะนำผลสรุปที่ได้ดำเนินการต่อไป
สำหรับผลการศึกษาได้วางวิสัยทัศน์ของศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติให้เป็นผู้ให้บริการข้อมูลและสารสนเทศด้านพลังงานของประเทศที่ตรงตามความต้องการและเป็นที่เชื่อถือของผู้ใช้ทุกกลุ่ม ทุกประเด็น โดยวางพันธกิจสำคัญในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้มาตรฐานสากล ตามหลักธรรมาภิบาลและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลทุกกลุ่ม โดยประสานความร่วมมือและสร้างเครือข่ายในการรับและเผยแพร่ข้อมูลพลังงาน สามารถให้บริการข้อมูล บทวิเคราะห์ การคาดการณ์ด้านพลังงานให้แก่ผู้สนใจนำไปใช้ประโยชน์ เสริมสร้างความเข้าใจ สร้างการเข้าถึงแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ได้วางแนวทางที่เป็นโรดแมพในการพัฒนาศูนย์ฯ เป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 ปี 2564-2566 เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภายในกระทรวงพลังงาน เพื่อจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐด้านพลังงานให้เป็นรากฐานที่สำคัญ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศเพื่อเชื่อมต่อระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ระยะที่ 2 ปี 2567-2569 เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภายนอกกระทรวงพลังงาน เตรียมความพร้อมตามแนวทางของรัฐบาลในการมุ่งสู่แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และระยะที่ 3 ปี 2570-2579 เป็นการเชื่อมโยงคลังข้อมูลแห่งชาติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการให้บริการข้อมูลสารสนเทศเชิงพาณิชย์แก่ผู้ที่สนใจ เพื่อผลักดันให้ศูนย์ฯ เป็นหน่วยงานที่มีความอิสระและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ในสถานการณ์ที่ประเทศต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 การบริหารจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data จึงมีความจำเป็นต้องเร่งประยุกต์นำ Big Data มาใช้กับเทคโนโลยี เพื่อช่วยบริหารจัดการ วางนโยบายและมาตรการด้านพลังงานให้สอดคล้องกับวิถีแบบใหม่หรือ New Normal เพื่อสามารถตอบสนองได้ทันท่วงทีต่อสถานการณ์ และพฤติกรรมของผู้คนที่จะปรับเปลี่ยนไปหลังผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ซึ่ง สนพ. เชื่อมั่นว่าการนำผลการศึกษาที่ได้เป็นข้อเสนอการพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงข้อมูลแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวของประเทศต่อไป