ศูนย์วิจัยกสิกรแนะกลุ่มเหล็กสร้างมูลค่าเพิ่มฉวยจังหวะบาทแข็งส่งออกตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 10, 2007 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด แนะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็ก เร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์โดยการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กเกรดคุณภาพสูงที่เป็นความต้องการของตลาดต่างประเทศ และฉวยโอกาสช่วงบาทแข็งขยายฐานตลาดส่งออก ในช่วงที่ตลาดในประเทศซบเซาสวนทางตลาดโลก 
จากภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ชะลอตัวลงรวมทั้งสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องมาในปี 2550 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กจากอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในประเทศ ทำให้ตลาดเหล็กในประเทศไทยปี 2550 ซบเซาต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศทรงตัว ซึ่งตรงกันข้ามกับราคาเหล็กประเภทต่างๆ ในตลาดโลกที่กลับมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบที่สูงขึ้นเป็นลำดับ
การที่ภาวะตลาดเหล็กในประเทศที่ซบเซาสวนทางกับภาวะตลาดเหล็กโลกที่ยังคึกคัก และราคาเหล็กขยับตัวสูงขึ้นดังกล่าว เท่ากับเป็นการสร้างความกดดัน 2 ด้านให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ซึ่งต้องนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบชนิดต่างๆ เช่น เหล็กบิลเล็ต, เหล็กสแล็บ รวมทั้งเศษเหล็กที่ล้วนมีราคาสูงขึ้น เพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหล็กเส้น, เหล็กลวด, เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ, เหล็กแผ่นรีดร้อน-รีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบชนิดต่างๆ
ในขณะที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กเหล่านี้ให้สอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าที่สูงขึ้นได้เพราะความต้องการในประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่พึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก ต้องได้รับผลกระทบจากการที่ราคาเหล็กกึ่งวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว แม้จะได้การชดเชยต้นทุนนำเข้าบ้างจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น แต่เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปจำหน่ายในประเทศกลับทรงตัว เพราะตลาดเหล็กในประเทศซบเซาทำให้ส่วนต่างหรือมาร์จินระหว่างต้นทุนและราคาขายลดลง ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการธุรกิจ
ดังนั้นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและธุรกิจเหล็กและเหล็กกล้าในประเทศไทย จำเป็นต้องปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศที่ผันผวนสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กที่มีศักยภาพในการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์เหล็กเกรดคุณภาพสูงที่เป็นความต้องการของตลาดต่างประเทศย่อมจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเป็นการขยายฐานตลาดส่งออกอันจะเป็นพัฒนาความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเหล็กของไทยในอนาคต
ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งนั้น แม้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะชะลอลงกว่าปีที่ผ่านมา แต่การนำเข้าเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กยังคงเติบโต เนื่องจากประเทศไทยต้องมีการนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบ เช่น เหล็กบิลเล็ตและเหล็กสแล็บ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเหล็กสำเร็จรูปประเภทต่างๆ ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาว เช่น เหล็กเส้น เหล็กลวด และผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนต่างๆ เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน-รีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบ หรือเหล็กแผ่นชุบชนิดต่างๆ เพื่อใช้ภายในประเทศและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการส่งออกที่กำลังได้ราคาดีในตลาดโลก
ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ การนำเข้าเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กมีมูลค่า 154,959 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% เป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการนำเข้าดังกล่าวสูงขึ้นทั้งๆ ที่ความต้องการในประเทศค่อนข้างซบเซา เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบซึ่งใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูป เพื่อส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ ซึ่งราคาเหล็กมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จูงใจให้ผู้ประกอบการเร่งส่งออก
นอกจากนี้ การที่ค่าเงินบาทสูงขึ้นได้ช่วยบรรเทาภาระต้นทุนนำเข้าอันเป็นการช่วยชดเชยต้นทุนการนำเข้าเหล็กวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกได้ในระดับหนึ่ง ผู้ประกอบการจึงมีการนำเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กราคาต่ำจากจีน ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 80-90%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ