(เพิ่มเติม) ธปท. เชื่อผลกระทบตลาดเงินไทยหลังยุติใช้ LIBOR อยู่ในวงจำกัด แนะผู้ประกอบการเตรียมรับการเปลี่ยนแปลง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 10, 2020 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การปฏิรูปอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะเกิดขึ้นกับตลาดการเงินทั่วโลก ซึ่งการยุติการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย LIBOR ณ สิ้นปี 2564 ทำให้ ธปท. มีความจำเป็นต้องยุติการจัดทำและเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย THBFIX (Thai Baht Interest Rate Fixing) ไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย LIBOR เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการคำนวณอัตราดอกเบี้ย THBFIX

ดังนั้น การปฏิรูปอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในต่างประเทศดังกล่าวย่อมจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินไทย จากธุรกรรมทางการเงินที่อ้างอิงกับ LIBOR ทางตรงและอ้างอิงกับ THBFIX ทางอ้อม อย่างไรก็ดี แม้ธุรกรรมทั้งสินเชื่อและธุรกรรมอนุพันธ์ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THBFIX จะมีปริมาณค่อนข้างมาก แต่ผลกระทบจากการยุติการเผยแพร่ THBFIX คาดว่าจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากสินเชื่อที่อ้างอิงกับ THBFIX มีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับยอดสินเชื่อรวม และผู้กู้ยืมที่ใช้ THBFIX มักเป็นลูกค้ารายใหญ่ ส่วนธุรกรรมอนุพันธ์ก็มีผู้เล่นหลักเป็นกลุ่มลูกค้าสถาบัน ซึ่งมีความสามารถที่จะจัดการการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า เพื่อรองรับการยุติการเผยแพร่ THBFIX ในปีหน้า ธปท. ในฐานะผู้บริหารจัดการอัตราดอกเบี้ย THBFIX จะจัดทำอัตราดอกเบี้ยสำรอง (Fallback THBFIX) เพื่อให้ลูกค้าที่มีสัญญาอ้างอิง THBFIX ที่ค้างอยู่สามารถใช้ทดแทนได้ โดยค่าของอัตราดอกเบี้ยสำรองจะใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ย THBFIX เดิม ดังนั้น ผลกระทบจากการตีมูลค่าจึงมีไม่มาก ขณะเดียวกัน ธปท. ได้ขอให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้วเช่นกัน โดย ธปท. จะติดตามความคืบหน้าการปรับสัญญาการเงินที่อ้างอิง LIBOR และ THBFIX ของทุกธนาคารอย่างใกล้ชิด

พร้อมกันนี้ ธปท. จะดำเนินการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นนั้นจะเป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

"ในส่วนของธปท.เอง ได้มีการตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมของธนาคารพาณิชย์ เพื่อรองรับการยุติ LIBOR โดยมีองค์ประกอบจากสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ เชิญ ก.ล.ต. และ คปภ.มาเป็น Observer...และมีคณะทำงานย่อยอีก 3 คณะ ชุดแรกจะดูเรื่องกฎหมาย การปรับเปลี่ยนสัญญา ชุดที่สองจะติดตามความพร้อมของธนาคาพาณิชย์ เพื่อดูการคำนวณความเสี่ยงด้วยเรทใหม่ การตีมูลค่า เรื่องภาษี ระบบหลังบ้าน และอีกชุดคือ จะดูเรื่องการพัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่" น.ส.ชญาวดีระบุ

ข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการที่มีสินเชื่อ ตราสารหนี้ หรืออนุพันธ์ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THBFIX ที่จะครบกำหนดภายหลังปี 2564 ควรเร่งศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย Fallback THBFIX และหารือกับธนาคารคู่สัญญาเพื่อขอปรับเพิ่มข้อความในสัญญาให้สามารถใช้อัตราดอกเบี้ย Fallback THBFIX ได้ โดยควรให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปี 2564 อีกทั้งควรศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย THOR เพื่อใช้อ้างอิงธุรกรรมทางการเงินในอนาคต

นอกจากนี้ ธปท. และผู้ร่วมตลาดได้ร่วมกันพัฒนาอัตราดอกเบี้ยธอร์ (THOR: Thai Overnight Repurchase Rate) เพื่อเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตัวใหม่ที่สะท้อนภาวะตลาดการเงินในประเทศ โดยช่วงที่ผ่านมาได้เริ่มมีการทำธุรกรรมจริงที่อ้างอิง THOR แล้ว

"ผู้ประกอบการรายใด สามารถทำสัญญาอ้างอิงกับ THOR ได้เลย เราก็อยากให้เป็นไปตามนั้น เพื่อให้ธุรกรรมมีมากขึ้นเรื่อยๆ และเรทจะได้มีความน่าเชื่อถือเร็วๆ เพื่อให้ตลาดโตเร็ว และมีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการต่อยอดให้ผู้ประกอบการรายอื่น หรือสถาบันการเงินอื่นหันมาใช้ THOR มากขึ้นด้วย" น.ส.ชญาวดี กล่าว

สำหรับในระยะต่อไป ธปท. มีแผนที่จะพัฒนาอัตราดอกเบี้ย THOR ให้เป็นที่แพร่หลายและมีสภาพคล่องมากขึ้น โดย ธปท.ได้เตรียมศึกษาการออกพันธบัตรที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย THOR ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นในต้นปี 64


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ