กทพ.เสนอเป็นผู้บริหารโครงการบางพลี-สุขสวัสดิ์แลกกับรัฐช่วยค่าก่อสร้าง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 23, 2007 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เสนอตัวเป็นผู้บริหารโครงการทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ โดยมีเงื่อนไขให้รัฐบาลรับภาระค่าก่อสร้าง 1.8 หมื่นล้านบาท และเพิ่มทุนให้ กทพ.อีก 2 พันล้านบาท พร้อมจ่ายดอกเบี้ย 5 ปีแรก ส่วนปีนี้คาดกำไรลดลงกว่า 800 ล้านบาท เนื่องจากต้องรับภาระดอกเบี้ยโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี 1.5 พันล้านบาท 
นายเผชิญ ไพโรจน์ศักดิ์ ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อขอเป็นผู้บริหารโครงการทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์(วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯด้านใต้) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่า บมจ.ช.การช่าง(CK) ผู้รับเหมาจะส่งมอบโครงการได้ภายในวันที่ 15 ก.ย.นี้
สำหรับข้อเสนอในการขอเป็นผู้บริหารโครงการนั้น รัฐบาลต้องยอมรับภาระค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท และเพิ่มทุนให้ กทพ.เป็นเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายใน 3 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างระบบเก็บค่าผ่านทางและระบบควบคุมความปลอดภัยด้านการจราจรของทางพิเศษบางพลี-สุขสวัสดิ์ และทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ(ตอนบางพลี-บางขุนเทียน และช่วงสุขสวัสดิ์-บางขุนเทียน), โครงการก่อสร้างทางเชื่อมต่อทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ กับทางพิเศษบูรพาวิถี และโครงการก่อสร้างทางเชื่อมต่อทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ กับถนนวงแหวนอุตสาหกรรม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,394 ล้านบาท
นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลช่วยรับผิดชอบภาระดอกเบี้ยจ่ายของโครงการทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ เป็นระยะเวลา 5 ปี คิดเป็นเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท
โดย กทพ.จะเรียกเก็บค่าผ่านทางในอัตราค่าธรรมเนียมแรกเข้า 20 บาท กิโลเมตรต่อไปกิโลเมตรละ 1 บาท สูงสุด 57 บาท คาดว่าจะคุ้มทุนในระยะเวลา 20 ปี
"เรามั่นใจว่าจะรับภาระค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างได้ แต่ต้องขอให้รัฐบาลสนับสนุนบางส่วน โดยคาดว่าโครงการนี้จะมีปริมาณรถยนต์วันละ 1 แสนคัน และจะมีผลตอบแทนการลงทุนที่ 12.07% โดยจะสามารถเปิดให้บริการและเริ่มจัดเก็บรายได้ประมาณเดือนกันยายน 2551 เพราะขณะนี้ยังต้องรอการติดตั้งระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง" นายเผชิญ กล่าว
ด้านนายทรงศักดิ์ แพเจริญ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า หาก กทพ.เป็นผู้รับผิดชอบค่าก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ ก็ควรให้ กทพ.เป็นผู้บริหารโครงการ และเห็นว่า กทพ. น่าจะทำหน้าที่จัดเก็บค่าผ่านทางได้ดี และยังทำให้รัฐบาลช่วยเหลือในโครงการน้อยกว่าการให้กรมทางหลวงบริหารโครงการ
ส่วนผลประกอบการ 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2550 กทพ.มีกำไร 1,100 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีจะมีกำไรประมาณ 1,300 ล้านบาท และมีรายได้รวมประมาณ 5,800 ล้านบาท โดยกำไรปีนี้ลดลงจากปีก่อนที่มีกำไร 2,159 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 859 ล้านบาท แม้ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 3%
เนื่องจาก กทพ.มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในส่วนของภาระดอกเบี้ยของโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี หรือบางนา-ชลบุรี เป็นเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยดังกล่าวให้ ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่ได้เพิ่มขึ้นคงเป็นค่าใช้จ่ายประจำ เช่น เงินเดือน 900 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายสำนักงาน 130 ล้านบาท และค่าเสื่อมราคา 800 ล้านบาท
วันเดียวกัน กทพ.ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางเชื่อมต่อทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ กับทางพิเศษบูรพาวิถี ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ให้ดำเนินการก่อสร้างในวงเงิน 1,168 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาก่อสร้าง 600 วัน
โครงการนี้จะช่วยเสริมโครงข่ายเส้นทางคมนาคมในเขตพื้นที่กรุงเทพฯฝั่งตะวันออกให้มีความสมบูรณ์ รวมทั้งยังช่วยรองรับปริมาณจราจรทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ และถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ตลอดจนช่วยขยายขอบข่ายการให้บริการของทางพิเศษบูรพาวิถีให้เชื่อมต่อกับทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ และถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก และแบ่งเบาปริมาณจราจรในถนนบางนา-บางปะกงด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ