(เพิ่มเติม) รมว.พาณิชย์ ยอมรับเพิ่มคำนิยามต่างด้าวอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนต่างชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 9, 2007 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพิ่มคำนิยามคนต่างด้าวในร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติ และอาจเลือกไปลงทุนในประเทศที่มีอำนาจบริหารกิจการได้มากกว่า แต่หากขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใสก็ไม่น่าที่จะมีปัญหา
“ยอมรับว่านิยามที่ให้ครอบคลุมถึงการมีอำนาจบริหารจัดการในบริษัทของคนต่างด้าวจะมีผลกระทบทางจิตวิทยา ซึ่งคณะกรรมาธิการจะพิจารณามาตราอื่นๆ ให้สอดคล้องกับคำนิยามใหม่ โดยแก้ไขไม่ให้ผู้ที่ประกอบธุรกิจเดิมได้รับผลกระทบ และจะหาแนวทางให้ผู้ประกอบการปรับตัวโดยไม่มีผลกระทบ" นายเกริกไกร กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมาธิการร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
นายเกริกไกร เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะเร่งปรับปรุงแก้ไขมาตราต่างๆ ของกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับคำนิยามคนต่างด้าวที่แก้ไขใหม่ตามที่สนช. เสนอ โดยมาตราที่จะต้องแก้ไข เช่น มาตรา 10 เรื่องแนวทางปฏิบัติของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับใหม่ และบัญชีแนบท้ายกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขจะต้องไม่ให้กระทบต่อการลงทุนของนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนแล้ว และนักลงทุนที่จะเข้ามาใหม่ รวมถึงการจัดทำแนวทางและขั้นตอนการอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจตามบัญชีแนบท้าย โดยให้มีความรวดเร็ว และโปร่งใส โดยยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้ห้ามการลงทุนจากต่างประเทศ เพียงแต่การลงทุนใดที่มีสัดส่วนของคนต่างด้าวมากกว่าคนไทยตามคำนิยามใหม่ต้องมาขออนุญาต
ส่วนการที่นักลงทุนต่างชาติจะนำกรณีดังกล่าวไปฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ถือเป็นสิทธิที่จะฟ้องร้องได้ แต่การแก้ไขกฎหมายได้แต่งตั้งอนุกรรมาธิการอิสระ ที่เป็นนักวิชาการ นักกฎหมาย เพื่อศึกษาพันธะกรณีที่ไทยผูกพันไว้แล้ว มั่นใจว่า การแก้ไขกฎหมายไม่ผิดข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ
ด้านนายสกล หาญสุทธิวารินทร์ เลขานุการรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับคำนิยามที่แก้ไขใหม่นั้นทำได้ 2-3 ช่องทาง เช่น แก้ไขบทเฉพาะกาลโดยอาจขยายระยะเวลาให้คนต่างด้าวปรับตัวมากกว่า 3 ปี หรือเปิดโอกาสให้คนต่างด้าวที่ทำธุรกิจตามบัญชี 1 และ 2 มาแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อทำธุรกิจต่อไปได้เหมือนบัญชี 3 โดยไม่ต้องปรับตัว หรือเลิกกิจการ เป็นต้น
นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ต้องปรับกระบวนการตรวจสอบการถือหุ้นแทน (นอมินี) ตามคำนิยามคนต่างด้าว ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบยากขึ้นกว่าเดิมมาก ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการที่มีคนต่างด้าวถือหุ้นอยู่ไม่ถึง 50 % ประมาณ 40,000 บริษัท ในจำนวนดังกล่าวอาจมีผู้ถือหุ้นที่ไม่เข้าข่ายคำนิยามใหม่จำนวนหนึ่ง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่ามีจำนวนเท่าใด
"การตรวจสอบอำนาจการควบคุมกิจการตรวจสอบยาก เพราะอาจมีการทำสัญญาอื่นนอกเหนือข้อบังคับกฎหมายหรือกฎระเบียบของบริษัทในเรื่องการบริหารจัดการบริษัท ซึ่งกรมต้องไปหาวิธีการตรวจสอบต่อไป"นายคณิสสร กล่าว
ส่วนนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะที่ร่วมร่างกฎหมาย และเป็นคณะกรรมการศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าว มองว่าคำนิยามของคนต่างด้าวตามเดิมรัดกุมเพียงพอแล้ว หากแก้ไขให้เข้มงวดมากขึ้น อาจทำให้ต่างประเทศทบทวนการเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งจะขอฟังความเห็นของนักลงทุนต่างชาติในไทยใน 2-3 วันนี้ จากนั้นจึงจะประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกัน เพื่อหาทางแก้ไขคำนิยามต่อไป
แหล่งข่าวจาก สนช.เปิดเผยว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับของกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากได้คะแนนโหวตจากที่ประชุมสนช.น้อยกว่าฝั่งกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยที่ขอแปรญัตติ ด้วยคะแนน 64 ต่อ 76 เป็นเพราะสมาชิกสนช. ซึ่งเห็นด้วยกับฝ่ายกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากได้ออกจากที่ประชุมไปก่อน หลังจากที่โหวตรับร่างกฎหมายคนพิการ ไม่อยู่ร่วมโหวตในที่ประชุมจนทำให้เป็นฝ่ายแพ้โหวตในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ