"อนุทิน"เตรียมเสนอแผนฟื้นฟู ขสมก.เข้าครม.ต.ค.นี้ ลั่นหากยังไม่มีกำไรอาจพิจารณาแปลงสภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 14, 2020 14:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณา รายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนฟื้นฟูตามที่ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการปรับปรุง ขสมก.เสนอมา ซึ่งเป็นแผนที่ได้มาจากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ โดยหลังจากนี้จะต้องนำเสนอบอร์ด ขสมก. และนำกลับมาพิจารณาในคณะกรรมการชุดนี้อีกครั้ง ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเสนอได้ภายในเดือนต.ค.นี้

ส่วนการที่ ขสมก.มีผลประกอบการขาดทุนทุกปี และต้องขอเงินชดเชยจากรัฐบาลทุกปีนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ขสมก. ถือเป็นบริการสาธารณะที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมา 41 ปีแล้ว และ ขสมก.ถือเป็นรัฐวิสาหกิจไม่ได้เป็นบริษัทมหาชน เหมือน บมจ.การบินไทย (THAI) ดังนั้นจึงเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องมาแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่งการแก้ปัญหาจะถือเป็นการรีเซต เช่น การหยุดการชำระดอกเบี้ยไว้ก่อน เพราะเจ้าหนี้ก็คือกระทรวงการคลัง หรืออาจจะเป็นการยกหนี้ หรือจะทยอยผ่อนเงินต้นไปเรื่อยๆ แต่ต้องหลังจากที่ขสมก.จะมีกำไรก่อน ซึ่งสิ่งที่ ขสมก.จะได้คือ จะไม่มีภาระหนี้สินและดอกเบี้ย และสามารถวัดประสิทธิภาพของ ขสมก.ว่าจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งสำคัญการดำเนินการทุกอย่างต้องไม่กระทบการให้บริการประชาชน

อย่างไรก็ตาม หากแผนฟื้นฟูได้รับการอนุมัติ ก็จะทราบชัดเจนว่าจะมีกำไรหรือไม่ ถ้าไม่มีกำไร ผู้บริหารก็อยู่ไม่ได้ และหากขสมก.ยังไม่สามารถทำกำไรได้อีก ทั้งที่มีการช่วยตัดภาระทุกอย่างไปแล้ว ก็ต้องกลับมาพิจารณาว่าจะแปลงสภาพ ขสมก. อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

ส่วนโครงการจัดเช่ารถเมล์พลังงานไฟฟ้า 2,511 คันนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า อยู่ในแผนฟื้นฟู แต่การจัดหารถเช่าต้องมาดูศักยภาพ แต่จากนี้ไป ขสมก.จะไม่ค่อยมีการลงทุนมาก แต่จะเน้นให้ผู้ประกอบการเข้ามารับสัมปทานเรื่องการเดินรถ ซึ่งการลงทุนต่างๆ จะเป็นเรื่องของผู้รับสัมปทาน เพื่อเป็นการลดภาระต่างๆ

ด้านน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. โดยกรมการขนส่งทางบก จะนำเสนอครม.เพื่อให้ความเห็นชอบ ดังนี้ 1.แนวทางการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง โดยมีโครงข่ายหลัก จำนวน 162 เส้นทาง และให้ ขสมก.บริหารจัดการเดินรถตามแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ฉบับปรับปรุงใหม่) ทั้งนี้ ให้กรมการขนส่งทางบก พิจารณาปรับปรุงเส้นทางให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ให้ครอบคลุมพื้นที่และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งในอนาคตต่อไป

2.ให้ ขสมก.มีสิทธิได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งในเส้นทางที่มีการกำหนดใหม่ หรือเส้นทางเดินรถที่มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ก่อนผู้ประกอบการขนส่งรายอื่น ในกรณีที่ ขสมก.ไม่ประสงค์เดินรถในเส้นทางดังกล่าว ให้กรมการขนส่งทางบก โดยการอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ประกาศรับคำขอเป็นการทั่วไป

3.นโยบายการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ให้ ขสมก.จัดเก็บเป็นอัตราเดียว (Single price) ในอัตรา 30 บาท/คน/วัน/ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว โดยในอนาคตอาจปรับเพิ่มหรือลดอัตราค่าโดยสารเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ขณะที่ ขสมก. จะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ ดังนี้ 1.การเสนอขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.62 ที่เห็นชอบในหลักการของแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ฉบับเดิม) เป็นเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ฉบับปรับปรุงใหม่) โดยให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เช่ารถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,511 คัน และจ้างเอกชนเดินรถให้บริการ (รถโดยสารไฟฟ้า (EV) หรือรถโดยสาร NGV จำนวน 1,500 คัน

2.อนุมัติให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 สำหรับโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด

3.อนุมัติในหลักการให้รัฐบาลรับภาระหนี้สินของ ขสมก. โดยจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ของ ขสมก. เมื่อ Ebitda เป็นบวก (ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 เป็นต้นมา รัฐบาลรับภาระชำระดอกเบี้ยของ ขสมก.แล้ว) ทั้งนี้ ยอดหนี้คงค้างที่รัฐบาลรับภาระจะเป็นยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 กรณี Ebitda เป็นบวกแค่ 1 หรือ 2 ปี แล้วกลับมาเป็นลบ ในหลักการปีถัดไป รัฐจะไม่ชำระหนี้เงินต้นให้

4.อนุมัติหลักการเพื่อขอสนับสนุนเงินอุดหนุนจากภาครัฐ จำนวน 7 ปี โดยเป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า มติที่ประชุมดังกล่าว ยังต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการ ขสมก. ก่อนเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ