กลุ่ม CARE เสนอแนวทางพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย แนะรัฐบาลตั้งวอร์รูมเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยของภาคเศรษฐกิจ พร้อมชูข้อเสนอให้รัฐบาลเติมทุนแก่ SMEs เพื่อเป็นหลังพิงให้เกิดความมั่นใจและสร้างไอเดียใหม่ในการเดินหน้าธุรกิจ รวมทั้งค้านการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมสถานการณ์โควิด-19 เพราะยิ่งทำให้ประชาชนแพนิค และฉุดเศรษฐกิจประเทศให้ฝ่อลง นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาธุรกิจการเงิน กลุ่มเกียรตินาคินภัทร หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม CARE กล่าวว่า การล็อกดาวน์ การปิดประเทศ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจระบบเปิด ส่งผลกระทบต่างๆ ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะที่ไทยต้องพึ่งพารายได้จากต่างประเทศเป็นอย่างมากทั้งด้านการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งในส่วนของธุรกิจท่องเที่ยว จะมีผู้ประกอบการรายย่อยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านท่องเที่ยวอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในขณะนี้
ดังนั้น จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลเติมทุนให้แก่ SMEs เพื่อเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการได้มีกำลังใจและมีไอเดียที่จะลุกขึ้นมาฟื้นธุรกิจของตัวเองใหม่อีกครั้ง
"การปิดเมืองมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เพราะธุรกิจท่องเที่ยวมี SMEs เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก และกระจายรายได้ไปสู่ผู้ที่มีรายได้น้อยอีกจำนวนมาก มีข้อมูลจากผลการสำรวจของเอเชีย ฟาวเดชั่น เดือนนี้ที่สำรวจจากพนักงานของธุรกิจ SMEs ในช่วงหลังล็อกดาวน 2 เดือน (มิ.ย.) ซึ่งน่ากลัวมาก เพราะ SMEs ในธุรกิจท่องเที่ยวกว่า 80% พบว่ามีรายได้ต่ำกว่าครึ่ง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด" นายศุภวุฒิกล่าว
นายศุภวุฒิ ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการล็อกดาวน์ประเทศในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบมาจนถึงขณะนี้ ที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ในเรื่องการพักชำระหนี้ตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจากมาตรการนี้ พบว่าจนถึงล่าสุดมีลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้แล้วถึง 12.5 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้กว่า 7.2 ล้านล้านบาท ซึ่งแบ่งได้เป็น ลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์-นอนแบงก์ 6.1 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 4.3 ล้านลบ. และลูกหนี้ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อีก 6.4 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 2.9 ล้านลบ. ซึ่งผู้มาใช้สิทธิในโครงการนี้ส่วนใหญ่เป็น SMEs และรายย่อยสูงมาก สะท้อนว่ารายย่อยมีปัญหาด้านการเงินสูงมาก
ทั้งนี้ จากมูลหนี้ 7.2 ล้านล้านบาท มีการประเมินว่าจะเป็นหนี้ที่มีปัญหาจริง 1 ใน 3 หรือประมาณ 30% ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ การฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs จะเกิดขึ้นได้น้อยมาก ท่ามกลางยอดขายที่ยังไม่กลับมาสู่ระดับปกติ เสี่ยงให้เกิดปัญหา NPL ซึ่งเมื่อธนาคารพาณิชย์มองเห็นถึงจุดนี้ ก็จะยิ่งไม่มั่นใจที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่ม SMEs เพราะยิ่งจะทำให้ธนาคารต้องมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะตั้งสำรองหนี้สูญ
"ที่กลุ่ม CARE ห่วงมากคือ เวลาแบงก์จะไปจัดการหนี้เก่า เนื่องจากมีขนาดใหญ่มาก จึงมีผลโดยตรงกับการปรับโครงสร้างประเทศไปโดยปริยาย ซึ่งแบงก์ไม่ได้ปรับโครงสร้างหนี้ไปตามความต้องการของประเทศ แต่แบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ไปตามความต้องการของแบงก์ พนักงาน ผู้ฝากเงิน ผมจึงไปคิดต่อว่าถ้าแบงก์จะปรับโครงสร้างหนี้ เขาจะคิดอย่างไร แน่นอนว่าต้องดูภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งถ้ายังแพนิกกันแบบนี้ แบงก์ก็แพนิกด้วย
สมมติลูกหนี้มีเงินใส่ใหม่ 20 ล้าน แล้วไปขอแบงก์ปล่อยกู้ให้อีก 30 ล้าน สองคนจะจูงมือไปหารัฐบาล แล้วรัฐจะใส่เงินทุนให้อีก 50 ล้าน รวมกันเป็น 100 ล้าน ทำให้ SMEs มีเงินใหม่ 100 ล้าน โดยเป็นทุน 70 ล้าน หนี้แบงก์ 30 ล้าน แบงก์ต้องปล่อยกู้เป็นหนี้ระยะยาว ส่วนรัฐบาล จะใส่เงินเข้าไป แต่ไม่ก้าวก่ายการบริหารงาน แต่จะเป็นทุน passive ใส่เข้าไปให้เฉยๆ แต่มีเงื่อนไขว่า 1.ถ้าต่อไปดีขึ้น ในอีก 7 ปี ลูกหนี้มาซื้อหุ้นคืนจากรัฐบาลได้ที่ 1.3 เท่าของเดิม 2.ลูกหนี้ต้องไปทำบัญชีตัวเองให้โปร่งใส ตามมาตรฐานที่ถูกต้อง 3.เข้าระบบการจ่ายภาษี เพื่อให้มีผู้เสียภาษีในอนาคตเพิ่มขึ้น" นายศุภวุฒิกล่าว
พร้อมระบุว่า การที่ลูกหนี้มีเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ จะช่วยสร้างความมั่นใจมากขึ้น และทำให้ธนาคารพาณิชย์กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น ซึ่งในจุดนี้จะช่วยทำให้เศรษฐกิจประเทศเดินหน้าต่อไปได้ โดยเงินที่รัฐบาลจะนำมาใช้เพื่อการนี้ อาจจะมาจากการตั้งกองทุนพิเศษขึ้นมา ซึ่งอาจทำในลักษณะคล้ายกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน แต่ในกรณีของกองทุนที่จะช่วยเติมเงินใน SMEs นี้ การดำเนินงานจะคล้ายกับกองทุนหมู่บ้าน ที่ต้องปล่อยให้ผู้ประกอบการมีไอเดียมานำเสนอเพื่อจะขอสินเชื่อจากธนาคาร
"ลูกหนี้ต้องใจสู้ เอาเงินใหม่ใส่ มีความมั่นใจ ซึ่งจะช่วยให้แบงก์ก็กล้าปล่อยกู้ เพราะมีทุนเข้ามาจากที่รัฐบาลจะใส่ให้ก่อนที่ความเสียหายจะไปสู่ลูกหนี้ ความที่เราตื่นตระหนกเรื่องโควิดมากเกินไป จึงทำให้ต้องมากระตุ้นตรงนี้เป็นพิเศษ เพื่อให้กล้าลุกขึ้นมาสู้ วิธีนี้จะทำให้คนเปลี่ยนจากภาวะตื่นตระหนกมาลุกขึ้นสู้ดีกว่า และเราก็มีทางสู้ด้วย
ให้ตั้งบัญชีพิเศษเหมือนกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ไปอุ้มแบงก์เมื่อปี 40 ถ้าอุ้มแบงก์ได้ ทำไมจะอุ้มเอสเอ็มอีไม่ได้ ให้ตั้งชื่อกองทุนฟื้นฟูเหมือนกันก็ได้ แต่จะเป็นกองทุนพิเศษที่รัฐบาลไทยจะขายพันธบัตรให้แบงค์ชาติ พันธบัตร 100 ปี ที่ดอกเบี้ย 0.01% สมมติว่าขาย 2 ล้านล้านบาท ดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายจะเท่ากับ 200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งน้อยมาก ก็จายไป 100 ปี เพราะพันธบัตรนี้อายุ 100 ปี เมื่อถึงตอนนั้นมูลค่าจริงของ 2 ล้านล้านบาท คงจะเหลือใกล้ๆ 0 แล้ว ดังนั้นภาระทางงบประมาณของรัฐบาลแทบจะไม่มีเลย สมัยก่อนทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะเป็นการพิมพ์เงิน ทำให้เงินเฟ้อกระฉูด และบาทจะอ่อน แต่ตอนนี้บาทเรามีแต่แข็ง ทุนสำรองเรามีมาก เงินเฟ้อติดลบ เราถึงต้องกล้าทำ เราทำได้ ไม่ได้เสี่ยงมาก เพื่อให้รัฐบาลมีเงินไปเพิ่มทุนให้ SMEs" นายศุภวุฒิกล่าว
ด้านนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง ในฐานะสมาชิกกลุ่ม CARE ระบุว่า การบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ได้ช่วยทำให้ควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ แต่กลไกที่ทำหน้าที่ควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาจากการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งโครงสร้างในการควบคุมการแพร่ระบาด โครงสร้างการทำงานของอาสาสมัครด้านสาธารณสุข (อสม.) ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ ตลอดจนการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิในการรับบริการทางด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ มองว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลต่อสถานการณ์โควิดในประเทศ ซึ่งในความจริงแล้วสถานการณ์ในประเทศไม่ได้มีความน่ากลัวจนถึงขั้นต้องใช้กฎหมายดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือควบคุมโรค
"พอมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้คนกลัว เป็นการไปเริ่มต้นสร้างความกลัวว่าจะมีการระบาดถึง 350,000 คนในเดือนเม.ย. เป็นการสร้างความกลัวครั้งแรกที่นำไปสู่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และหลังจากนั้น ยังมีการสร้างความกลัวต่อเนื่อง เช่น อย่าเพิ่งเปิดเมือง เพราะจะมีการระบาดรอบสอง แต่จากที่เราเปิดเมืองต้น พ.ค. จนถึงป่านนี้ การระบาดรอบสองก็ยังไม่มี วันนี้เป็นไปได้ว่ามีคนเป็นโควิด-19 อยู่ประปราย ซึ่งไม่ได้มีอาการมาก ไม่รุนแรง วันนี้ความกลัวเรื่องการระบาดรอบสองควรเลิกได้แล้ว" นพ.สุรพงษ์กล่าว
พร้อมระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำอย่างเร่งด่วนในตอนนี้ คือ การสร้างความเชื่อมั่น โดยเลิกทำให้ประชาชนในประเทศหวั่นวิตกกังวลกับการระบาดรอบสอง การจะมีผู้ติดเชื้อในประเทศบ้าง ไม่ใช่เรื่องน่าวิตกแต่อย่างใด เพราะในต่างประเทศเองยังให้อัตราการติดเชื้อต่อวัน ที่ 1,250 คนต่อแสนประชาชนเป็นระดับสีเขียวที่ถือว่ามีอัตราความเสี่ยงต่ำ ซึ่งหากเทียบกับอัตราการติดเชื้อต่อวันของประเทศไทยที่มีเพียงไม่กี่ราย จะถือว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงต่ำมาก ดังนั้นรัฐบาลจึงควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้แล้ว เพราะ พ.ร.บ.ต่างๆ ในด้านสาธารณสุขก็เพียงพอที่จะใช้ควบคุมและดูแลสถานการณ์ในประเทศได้
"การสร้างความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญ ต้องเริ่มเปลี่ยนความคิดใหม่เกี่ยวกับโควิด และที่สำคัญคือยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะมันจะบอกได้ทันทีว่าประเทศโอเคแล้ว ทุกคนไม่ต้องกลัวกันแล้ว อย่าไปพันกับเรื่องการเมืองนัก ถ้าอยากสร้างความเชื่อมั่นว่าเราจะหลุดจากความเสี่ยงโควิด เราต้องยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน" อดีตรมว.คลังระบุ
โดยในกรณีของภูเก็ตโมเดลที่เสนอขึ้นมานั้น จากล่าสุดที่ได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุข มองว่าสถานการณ์โควิดในประเทศไม่ได้น่าเป็นห่วงมากแล้ว ดังนั้นน่าจะเปิดให้มีการท่องเที่ยวของต่างชาติเข้ามาที่ภูเก็ตได้ก่อน เพราะเศรษฐกิจของภูเก็ตต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก และให้พิจารณานักท่องเที่ยวจากจีนก่อน เนื่องจากในประเทศจีนแทบจะไม่มีความเสี่ยงเรื่องการระบาดของโควิดแล้ว โดยจากนี้อาจจะให้ รมว.สาธารณสุข เดินทางไปประเทศจีน และหารือกับสาธารณสุขจีน เพื่อร่วมกันออกแบบการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันของสองประเทศ การดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ประชาชนของสองประเทศ
"อาจจะเริ่มต้นจากประเทศจีน ซึ่งขณะนี้แทบไม่มีความเสี่ยงแล้ว รมว.สาธารณสุขน่าจะไปจีนคุยกับรมว.สาธารณสุขจีนว่าจะออกแบบการเดินทางอย่างไร เช่นตรวจแล็ปที่จีน 72 ชม.ก่อนเดินทาง ถ้าเชื่อถือได้ ก็ไม่ต้องตรวจซ้ำในไทย แล้วมาอยู่เฉพาะในภูเก็ต อาจทำเป็นริสแบนด์มี GPS ติดตามตัว กำหนดเวลาให้เที่ยวว่าช่วงเวลาไหน เราสามารถถออกแบบการท่องเที่ยวได้ ก่อนกลับก็ตรวจหาเชื้อจากไทยอีกครั้ง พอถึงจีนก็ไม่ต้องตรวจซ้ำ ถ้ามาตรฐานเป็นที่ยอมรับระหว่างสองประเทศ ถ้ามีโมเดลแบบนี้ ภูเก็ตน่าจะเหมาะสมสุด เพราะมีเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวมาก หากทำได้ดีที่ภูเก็ต ค่อยไปเริ่มจังหวัดอื่นได้ มันจะเป็นแบบสโนว์ บอล ความเชื่อมั่นจะค่อยๆ มากขึ้น จะทำให้เริ่มมีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว เป็นตัวอย่างของการเปิดประเทศ" นพ.สุรพงษ์กล่าว
พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจประเทศต้องอาศัยเครือข่ายที่สำคัญจากกลุ่ม SMEs เพราะถือเป็นเส้นเลือดฝอยที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจในขณะนี้ ดังนั้นจึงต้องการการตัดสินใจที่รวดเร็ว ซึ่งธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบการ SMEs รอการตัดสินใจจากรัฐบาล และเห็นว่าควรต้องตั้งวอร์รูมเพื่อเข้ามาทำงานในส่วนนี้อย่างเอาจริงเอาจัง และต้องกล้าตัดสินใจในเรื่องใหญ่ เพื่อให้ทันกับเวลา