ธนาคารไทยพาณิชย์ โดย Economic Intelligence Center (EIC) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 63 เป็นหดตัว -7.8% จากเดิมคาดว่าจะหดตัวราว -7.3% เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลง เพราะยังมีอุปสรรคของการฟื้นตัวอีกหลายประการ ท่ามกลางความเสี่ยงสำคัญหลายด้าน โดยเฉพาะความเปราะบางในตลาดแรงงานและการปิดกิจการของธุรกิจที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น
"การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีอุปสรรคจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (Scarring effects) ซึ่งประกอบด้วยการปิดกิจการในภาคธุรกิจที่เร่งตัวขึ้นและความเปราะบางในตลาดแรงงาน สะท้อนจากตัวเลขอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และจำนวนชั่วโมงการทำงานรวมที่ลดลงมาก อีกทั้งพฤติกรรมการออมเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต (precautionary saving) และความจำเป็นในการซ่อมแซมงบดุลที่ได้รับผลกระทบของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนจะเป็นไปอย่างช้า ๆ"SCB EIC ระบุ
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด SCB EIC กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปได้ค่อนข้างช้าหลังจากผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2/63 จากปัจจัยสำคัญที่เคยผลักดันเศรษฐกิจไทยก่อนโควิด-19 คือ ภาคการท่องเที่ยว ไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ เพราะชาวต่างชาติยังเดินทางเข้ามาไม่ได้ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปทั้งหมด และยังไม่เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่าจะกลับมาเปิดประเทศได้เมื่อใด
ขณะที่การบริโภคในประเทศได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จากปัญหาการว่างานที่เพิ่มขึ้นสูงจากการปิดล็อกดาวน์ ทำให้รายได้ของครัวเรือนในประเทศหายไป ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยชะลอตัว และภาคธุรกิจในประเทศก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือออกมา แต่ยังไม่สามารถช่วยให้ภาคธุรกิจฟื้นกลับมาได้เต็มที่ ดังนั้น SCB EIC จึงปรับลดประมาณการ GDP ของไทยปีนี้ลงอีกครั้งเป็น -7.8% จากเดิม -7.3%
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีอุปสรรคจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจจากการปิดกิจการของภาคธุรกิจเร่งตัวขึ้น เห็นได้จากอัตราการเพิ่มขึ้นของนิติบุคคลที่แจ้งเลิกกิจการในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.63 เพิ่มขึ้นมาที่ 38.4% สะท้อนสถานการณ์ของเศรษฐกิจในประเทศแย่ลง และมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นได้อีกหากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยกลุ่มที่คาดว่ามีโอกาสปิดกิจการเพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและการท่องเที่ยว เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ และกลุ่มโรงแรม ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย
ขณะที่การเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสถาบันการเงินต่างๆยังมีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับหนี้เสีย ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายที่ขาดสภาพคล่องจำเป็นต้องปิดกิจการลง
ผลกระทบต่อภาคธุรกิจยังส่งต่อมาถึงภาคแรงงานต้องเผชิญกับความเปราะบาง สะท้อนจากตัวเลขอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาส 1/63 ที่ระดับ1.03% มาที่ 1.95% ในไตรมาส 2/63 ผู้ว่างงานในประเทศสูงขึ้นเป็น 750,000 คน ซึ่งเป็นการเร่งตัวขึ้นไปใกล้กับช่วงวิกฤตการณ์การเงินโลกในปี 52 โดยตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมกับผู้ที่ไม่สามารถทำงานได้ หรือทำงาน 0 ชั่วโมง ที่มีจำนวน 2.5 ล้านคน เปรียบเสมือนกับผู้ว่างงาน โดยหากรวมตัวเลขดังกล่าวไปจะทำให้อัตราการว่างงานของไทยเพิ่มขึ้นไปกว่า 2% และกลุ่มแรงงานในอุตสาหกรรมที่ยังมีความเสี่ยงที่จะตกงานได้เพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องพึ่งพาชาวต่างชาติ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตลาดแรงงานส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอตัว โดยเฉพาะการบริโภคกลุ่มสินค้าคงทนที่จะเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวช้า เพราะคนจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้น และเริ่มออมเงินมากขึ้น แต่ความเสี่ยงของภาคครัวเรือนไทยยังคงเป็นเรื่องพฤติกรรมการออมที่เดิมก็มีน้อยอยู่แล้ว เมื่อเกิดวิกฤติทำให้ครัวเรือนบางส่วนมีเงินออมไม่พอใช้ในระยะข้างหน้าที่ค่อนข้างยาว ส่วนใหญ่มีเงินออมรองรับการใช้จ่ายเพียง 3 เดือน เป็นความเสี่ยงต่อภาคครัวเรือนในการใช้ชีวิต และแนวโน้มของหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 84-85% ในไตรมาส 2/63 และมีโอกาสจะขึ้นไปแตะที่ 88-89% ในสิ้นปีนี้ ทำให้เป็นแรงกดดันการบริโภคในประเทศที่จะชะลอตัวลงไปได้ค่อนข้างมาก
ด้านนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างจำกัดแล้วในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป จึงมองว่า ธปท.จะหันมาใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ รวมถึงมาตรการ Unconventional เพิ่มเติมหากมีความจำเป็น หลังจากได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบในการให้สินเชื่อซอฟท์โลน มาตรการสร้างเสถียรภาพให้กับตราสารหนี้ไทย และอาจจะเห็นการทำมาตรการ QE ของ ธปท.ออกมาเพิ่มเติมได้ จากที่ได้เห็นในเดือนมี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมาจากการที่ ธปท.เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ และดูแลอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไม่ให้สูงมากเกินไป
อีกทั้งในส่วนของการดูแลเสถียรภาพทางการเงินและเสถียรภาพของสถาบันการเงิน คาดว่า ธปท.จะมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรองรับปัญหาหนี้เสียและสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นหลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ เพื่อทำให้สถาบันการเงินยังมีเสถียรภาพที่ดี แม้ว่าปัจจุบันสถาบันการเงินไทยจะมีความแข็งแกร่งในด้านเงินกองทุนที่เข้มแข็งมากที่สุดในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยเงินกองทุนเฉลี่ยรวมกันของสถาบันการเงินไทยอยู่ที่ 19% แต่ยังต้องมีความระมัดระวังเหตุการณ์หลังจากพ้นมาตรการพักชำระหนี้ไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นสถาบันการเงินต่างๆเตรียมความพร้อมล่วงหน้าในเรื่องดังกล่าวค่อนข้างมากแล้ว
ด้านการดำเนินนโยบายของภาครัฐในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังคงต้องติตดามว่าจะมีมาตรการใดบ้างที่ออกมาช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี และมาตรการเยียวยากลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ออกมาเพิ่มเติม หลังจากความคืบหน้าล่าสุดคาดว่าจะมีเม็ดเงินช่วยเหลือออกมาต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ โดยล่าสุดเม็ดเงินที่ได้รับอนุมัติภายใต้พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเข้าสู่ระบบไปเพียง 4.75 แสนล้านบาท ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ ทำให้ปรับลดคาดการณ์เม็ดเงินที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจในปี 63 เหลือเพียง 5 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดไว้ 6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการปรับคาดการณ์ GDP ลดลงในรอบนี้
ดังนั้น SCB EIC คาดหวังภาครัฐจะนำเงินใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วมากขึ้น แม้ว่าจะส่งผลให้แนวโน้มของหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นไปใกล้ 58-57% ของ GDP ในช่วงสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันที่ 42-43% ของ GDP แต่ถือเป็นการช่วยเร่งการพลิกฟื้นประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ภาคธุรกิจ และนักลงทุนต่างชาติ ที่จะเห็นโอกาสของการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้อย่างรวดเร็วในอนาคต
ส่วนค่าเงินบาทยังคงมองว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 30.5-31.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากปัจจุบัน เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารสหรัฐฯ (เฟด) และการดำเนินนโยบายการคลังที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้นของสหรัฐฯ อีกทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ รวมถึงตลาดการเงินไทยในระยะต่อไป และด้วยดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เกินดุลลดลงมากจากดุลบริการที่หายไปตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวในระดับสูง ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นแต่ไม่มากนัก
นายยรรยง กล่าวว่า สิ่งที่เป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตายังคงเป็นการกลับมาระบาดอีกระลอกของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อภาคส่งออกและเศรษฐกิจในประเทศหากมีการบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น ซึ่งในกรณีที่มีการกลับมาระบาดอีกระลอกในประเทศจะกดดันต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมขึ้นอีก โดยในกรณีเหตุการณ์ระบาดระลอก 2 เกิดขึ้นในประเทศ และต้องกลับมาปิดล็อกดาวน์อีกครั้ง จะทำให้ GDP เศรษฐกิจไทยติดลบลงลึกไปถึง -10 ถึง -11% แต่คาดว่าจากการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐที่มีการบริหารจัดการที่ดีอาจจะเป็นไปได้ยากที่มีการกลับมาแพร่ระบาดอีกระลอก ทำให้ตัวเลข GDP ไทยที่ปรับลงมา -7.8% ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างลงมาลึกมากแล้ว
ส่วนประเด็นในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในช่วงต้นเดือนพ.ย.นี้ อาจส่งผลต่อภาวะการค้าและความผันผวนในตลาดการเงินโลกได้