รฟม.เตรียมเสนอรัฐตัดสินรูปแบบร่วมทุนเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 23, 2007 17:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          รฟม. เตรียมชงรัฐชี้ขาดรูปแบบการร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใน 2 รูปแบบ ระหว่างกรณีรัฐลงทุนทั้งหมด กับเอกชนร่วมลงทุนในลักษณะเดียวกับบมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL)  แต่ทั้งสองรูปแบบยังต้องขอรับการอุดหนุนจากรัฐบาล พร้อมยืนยันประกวดราคาได้ในเดือน ต.ค.นี้
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ รฟม.วันนี้พิจารณาผลการศึกษารูปแบบการร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ซึ่งที่ปรึกษาได้ศึกษาใน 2 แนวทาง คือ การศึกษารูปแบบร่วมทุนตามสมมติฐานของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ซึ่งพบว่ารูปแบบที่เหมาะสมคือ การร่วมทุนในลักษณะ PSC (Public Sector Comparator) หรือการที่รัฐบาลลงทุนทั้งหมด โดยจ้างเอกชนเข้ามาบริหารการเดินรถ
และการศึกษารูปแบบร่วมทุนตามสมมติฐานของคณะอนุกรรมการบริหารโครงการก่อสร้าง ซึ่งมีนายคำรบลักขิ์ สุรัสวดี เป็นประธาน โดยสมมติฐานจะมีความแตกต่างกันในประเด็นของเงินลงทุน ดอกเบี้ย ซึ่งพบว่ารูปแบบเหมาะสม คือ การร่วมทุนในลักษณะ PPP (Public Private Partnership) หรือการที่รัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้า ลักษณะเหมือนกับการร่วมทุนของ BMCL
"เราจะเสนอทั้ง 2 รูปแบบให้รัฐบาลพิจารณา เพื่อให้รัฐบาลตัดสินใจเลือกรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งรัฐก็ต้องเลือกรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศ ซึ่งในภาพรวมการให้เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้าจะช่วยแบ่งเบาภาระการลงทุนของรัฐบาลได้ แต่การที่รัฐบาลลงทุนทั้งหมดจะช่วยในเรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ต่ำได้ โดยคาดจะสามารถเสนอเรื่องให้ที่ประชุมครม.พิจารณาได้ภายในเดือนตุลาคม และเปิดประกวดราคาในเดือนตุลาคมเช่นเดียวกัน" นายประภัสร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตุคือ ข้อเสนอทั้ง 2 รูปแบบต้องขอรับการอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อให้เอกชนที่เข้ามาเดินรถอยู่รอด โดยการลงทุนแบบ PSC จะขอรับการสนับสนุนมากกว่าการลงทุนแบบ PPP ประมาณ 1 พันล้านบาทตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี ขณะที่ค่าโดยสารอยู่ในพื้นฐานเดียวกัน
นายประภัสร์ ยังกล่าวถึงค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือค่าเวนคืนที่ดินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงอีกว่า ตั้งเป้าว่าจะเร่งจัดกรรมสิทธิ์ให้เสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้ โดยค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจะปรับลดวงเงินลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท เป็น 9 พันล้านบาท ตามที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอแนะ โดยมีการปรับลดค่าเสียโอกาสในการใช้ที่ดิน จาก 30% เป็น 15%
อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจะต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำหนดราคาฯ ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องไปสำรวจที่ดินแต่ละแปลง เพื่อกำหนดราคาชดเชยที่เหมาะสม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
นอกจากนี้ รฟม. ยังได้ลงนามบันทึกการเจรจาหารือ (MOD) กับเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ซึ่งจะนำผลการหารือไปรายงานให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อพิจารณาปล่อยเงินกู้ต่อไปด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ