นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ระบุว่า โดยปกติแล้วงบประมาณรายจ่ายประจำปี จะออกมาในช่วงสิ้นเดือนก.ย.ของทุกปี แต่เนื่องจากในปี 63 ซึ่งเป็นช่วงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของปี 64 ได้เกิดมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขึ้น ทำให้ต้องมีการปรับงบประมาณเพื่อมารองรับการดำเนินการในส่วนนี้ จึงส่งผลทำให้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 64 อาจจะล่าช้าออกไปราว 3-4 สัปดาห์ แต่จะไม่เกินเดือนต.ค.63
"ในเดือนเม.ย.63 ครม.เห็นชอบให้สำนักงบประมาณ ไปปรับลดงบประมาณของส่วนราชการ กรณีที่ยังไม่มีความจำเป็น และสามารถชะลอได้ เพื่อตั้งไว้เป็นงบเยียวยา บรรเทา แก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด ช่วงนี้จึงทำให้การจัดทำงบประมาณสายออกไป 3-4 อาทิตย์ ทำให้ประกาศใช้ไม่ทัน ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างรอเข้าสภาวาระ 2-3 วันที่ 17-18 ก.ย. และจะเข้าวุฒิสภา 21-22 ก.ย. จากนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อโปรดเกล้าฯ ลงมาเมื่อไร ก็จะประกาศใช้เมื่อนั้น" ผอ.สำนักงบประมาณกล่าว
พร้อมระบุว่า ในส่วนของรายจ่ายประจำ เช่น งบประมาณสำหรับการจ่ายเงินเดือนนั้น สำนักงบประมาณจะอนุมัติให้นำไปใช้ได้ก่อน 25% ของงบประมาณรายจ่ายปี 64 โดยรวม ซึ่งจะมีเพียงพอใช้ไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน และทันกับที่งบประมาณรายจ่ายปี 64 จะออกมาภายในเดือนต.ค.นี้อยู่แล้ว
ส่วนกรณีของงบลงทุนในรายการที่มีการผูกพันหรือทำสัญญาไว้แล้ว สำนักงบประมาณจะตั้งงบให้ตามสัญญาที่ได้ทำไว้ ดังนั้นจึงจะไม่ส่งผลกระทบ แต่ในส่วนที่จะได้รับผลกระทบ คือ งบลงทุนใหม่ของปี 64 ที่อาจต้องชะลอไว้ก่อน
"ปกติแล้ว ส่วนราชการจะใช้เวลาประมาณ 60 วันในการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้น ถ้างบประมาณออกเดือนต.ค. หลังผ่านวาระ 2-3 ในวันที่ 18 ก.ย.แล้ว จะส่งสัญญาณไปยังส่วนราชการให้เตรียมการจัดซื้อจัดจ้างได้เลย ประมาณเดือนพ.ย.ก็คงทำสัญญาได้ พอดีกับที่งบประมาณประกาศใช้ ดังนั้นจึงไม่กระทบ ปีที่แล้วปี 63 ที่ล่าช้าไป 5 เดือน ก็ต้องใช้งบปี 62 ไปพลางก่อนเหมือนกัน แต่ก็ยังสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้า" นายเดชาภิวัฒน์ระบุ
สำหรับกรณีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยคนชรา ที่เดือนนี้ไม่สามารถดำเนินการโอนเข้าบัญชีได้ทันวันที่ 10 ก.ย.นั้น ผอ.สำนักงบประมาณ กล่าวว่า ตอนที่ตั้งงบประมาณเบี้ยยังชีพ ใช้ข้อมูลของปี 62 ทำให้วงเงินที่ตั้งไว้ล่วงหน้าอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง เช่น ในปี 63 มีจำนวนคนชราที่มีสิทธิเพิ่มมากขึ้น แต่มาลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพไม่ถึงจำนวนที่ลงทะเบียนไว้
"เราตั้งงบไว้ 5 ปี บางปีก็เหลือ บางปีก็ขาด ดังนั้นในส่วนที่ขาดนี้ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นต้องไปบริหารงบประมาณของกรมฯ ที่เราให้ไว้ ถ้ามีเหลือก็จะเอามาเติมในส่วนที่ขาด เราก็ทำแบบนี้ทุกปี แต่ปีนี้มีการปรับระบบ จากเดิมที่จ่ายผ่าน อบต. ปีนี้เราจะจ่ายตรงไปที่ผู้พิการเลยด้วยวิธีอีเพย์เม้น แต่คิดว่าปีหน้าเป็นต้นไปจะจ่ายได้ตรงและทัน ไม่ใช่เราไม่มีเงิน" นายเดชาภิวัฒน์กล่าว
พร้อมกันนี้ สำนักงบประมาณจะได้หารือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อเตรียมความพร้อมไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะเช่นนี้ขึ้นอีกในปีหน้า โดยจะพิจารณาจากสถิติที่ผ่านมา และย้ำว่างบประมาณไม่ได้มีปัญหาไม่เพียงพอ หรือถังแตกตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด