นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กล่าวภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส (Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส) วงเงินค้ำประกัน 5.7 หมื่นล้านบาท ระหว่างบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ 18 ธนาคารพันธมิตรว่า โครงการดังกล่าวจะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำไปสู่การหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล
"มั่นใจว่าโครงการดังกล่าว จะเสริมสร้างบรรยากาศการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีให้คึกคัก เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ กระตุ้นเศรษฐกิจตลอดไตรมาส 3-4 ของปีนี้ให้เกิดสินเชื่อหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท" นายสันติ กล่าว
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปดูในรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้เงินจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จำนวน 6 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ บสย.ใช้ค้ำประกันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อขอกู้เงินจากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ปัจจุบันปล่อยกู้ไปได้เพียง 1 แสนล้านบาท ยังมีวงเงินเหลืออีก 4 แสนล้านบาท โดยมองว่าการค้ำประกันอีก 6 หมื่นล้านบาท จะช่วยทำให้เกิดสินเชื่อในระบบอีก 3.6 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ส่วนข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้ บสย. ขยายการค้ำประกันเพิ่มเป็น 50% จากปัจจุบันที่ 30% นั้น คงต้องมาดูว่าหากมีการขยายจะช่วยส่งเสริมธุรกิจใดที่จำเป็นได้หรือไม่ แต่คงเป็นเรื่องอนาคตที่ค่อยมาพิจารณา เพราะกรอบการค้ำประกันในปัจจุบันที่ 30% ก็ช่วยทำให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว
ด้านนางนฤมล ภิณโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยลดปัญหาการว่างงาน และทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 3.6 แสนตำแหน่ง โดยคาดว่าจะนำไปสู่การขยายผลต่อเนื่องจากการดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส สู่การบูรณาการความร่วมมือด้านการสร้างงาน สร้างอาชีพ
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า โครงการ Sofe Loan พลัส ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา โดย บสย.สามารถรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ สามารถเข้าถึงสินเชื่อ 3.4 หมื่นราย และก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 5.7 หมื่นล้านบาท และยังช่วยลดปัญหาการว่างงาน ซึ่ง บสย. จะค้ำประกันสินเชื่อต่อเนื่องจากโครงการ Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปอีกเป็นระยะเวลา 8 ปี เริ่มค้ำประกันตั้งแต่ปีที่ 3 จนถึงปีที่ 10
นอกจากนี้ บสย. ยังเตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันการเงินในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. เอสเอ็มอี ไทยชนะ เพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยมีวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อเพื่อธุรกิจทุกประเภท ค้ำประกันสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 10 ปี สามารถปรับค่าความเสี่ยงและลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่มเอสเอ็มอีได้ ซึ่ง บสย. คาดว่าจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบได้ 4.5 หมื่นล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ 1.2 หมื่นราย และทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มอีก 4.2 แสนตำแหน่ง