ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตามที่เมื่อวันที่ 15 ก.ย.63 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มเติม ได้แก่ กลุ่มชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางมาพำนักระยะยาว ประเภทพิเศษ หรือ Special Tourist Visa (STV) แนวทางดังกล่าวนับเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ที่ปัจจุบันภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและแรงงานกำลังเผชิญกับปัญหาอย่างหนัก จากรายได้ที่หดหายไป (การระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสจากการใช้จ่ายของชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 นี้ เป็นมูลค่าประมาณ 7.87 แสนล้านบาท) แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในแต่ละเดือนยังจำกัด แต่ก็ช่วยให้เกิดกิจกรรมหมุนเวียนในธุรกิจท่องเที่ยวได้บ้าง เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง
อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามรายละเอียดข้อกำหนด หลักการปฏิบัติและการกำหนดพื้นที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ ซึ่งขณะนี้ทางหน่วยงานภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการวางแผนเตรียมความพร้อม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน
ทั้งนี้ กลุ่มชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางมาพำนักระยะยาว ประเภทพิเศษ หรือ Special Tourist Visa (STV) จะสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ 90 วัน และสามารถขอต่อวีซ่าได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน รวมเป็นระยะเวลา 270 วัน โดยในเบื้องต้นจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนต.ค.63 นี้ โดยจะมีการกำหนดจำนวนชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยสัปดาห์ละ 100-300 คน แต่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามายังคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทางการกำหนด เช่น การยินยอมกักตัวในห้องพักเป็นเวลา 14 วัน ต้องผ่านหลักเกณฑ์ตามที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด อย่างผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ที่ต้องเป็นลบก่อนการเดินทาง ใบรับรองแพทย์ ประกันสุขภาพระหว่างที่พำนักในประเทศไทย เป็นต้น โดยใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศจนถึงวันที่ 30 ก.ย.64
สำหรับโครงการ STV ล่าสุดนี้ แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอาจจะไม่มากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 และหากในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาตามเป้าหมายก็อาจจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าประมาณ 1,500-2,200 ล้านบาท ซึ่งประมาณการภายใต้สมมติฐานนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความพร้อมของทางการ โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะเดินทางเข้ามาในช่วงเดือนพ.ย.นี้เป็นต้นไป
"หากทางการ สามารถบริหารจัดการนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มนี้ ที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากในช่วงที่เหลือของปีนี้ ประเทศไทยไม่มีการระบาดของโควิด-19 ในประเทศนั้น ทางการไทยก็อาจจะพิจารณาแนวทางในการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติบางกลุ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มเติม เพื่อประคับประคองธุรกิจและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้" บทวิเคราะห์ระบุ
ทั้งนี้ แม้ว่าทางการไทยจะมีแนวทางผ่อนคลายการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ แต่การตัดสินใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ต้องคำนึง อย่างประเด็นการระบาดของโควิด-19 ซึ่งสถานการณ์ในหลายประเทศยังไม่คลี่คลาย เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย อินเดีย และบราซิล ขณะที่ประเทศที่การระบาดลดลงไปก่อนหน้า ก็กลับมาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น เช่น สเปน เป็นต้น ทำให้นักท่องเที่ยวยังมีความกังวลที่จะเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้
นอกจากนี้ การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในสภาวะ New Normal ที่ยังมีเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตาม รวมถึงค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่สูงขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการตรวจร่างกายก่อนการเดินทาง การทำประกันคุ้มครองการรักษาพยาบาล รวมถึงระยะเวลาที่ต้องพำนักในต่างประเทศที่ยาวนานจากการที่ต้องกักตัว 14 วัน เมื่อเดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ อีกทั้งหลายประเทศก็กำลังเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากผลพวงของโควิด-19 กำลังซื้อและรายได้ของประชาชนลดลง ก็เป็นอีกหนึ่งข้อจำกัดในการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ
จากปัจจัยดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยยังคงมีจำนวนจำกัด ทำให้ทั้งปี 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 6.72 ล้านคน ซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นช่วงต่ำสุดของการท่องเที่ยวไทย (จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยมีประมาณ 6.69 ล้านคน) โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น มาจากโครงการก่อนหน้าอย่างกลุ่ม Medical and Wellness รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่ม STV และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ทางการอาจมีการพิจารณาผ่อนปรนเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า
"สำหรับทิศทางตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 ยังมีความท้าทายสูง ซึ่งยังต้องติดตามและประเมินสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว" ศูนย์วิจัยระบุ