นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC CONFIDENCE INDEX) หรือ TCC-CI ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากภาคธุรกิจ และหอการค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 364 ตัวอย่าง ในเดือนส.ค.63 พบว่า อยู่ที่ระดับ 32.6 เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค.63 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 31.8
โดยปัจจัยบวกสำคัญที่มีผลกระทบสำคัญต่อดัชนีฯ ในเดือนส.ค.นี้ คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ต่อปี, รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ ที่ปิดไปชั่วคราวได้กลับมาเปิดกิจการได้ และประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ, ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศปรับตัวลดลง 30 สตางค์/ลิตร
ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ 1. สภาพัฒน์เผย GDP ไตรมาส 2/63 หดตัว -12.2% จากผลของการส่งออกและการบริการที่ลดลง รวมทั้งการบริโภค การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงเช่นกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 2. ความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไปจากเดิม 3. ความกังวลต่อสถานการณ์การเมือง และการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน ที่อาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนในอดีต
4. รัฐบาลขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อบริหารจัดการและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 5. การส่งออกของไทยในเดือนก.ค.63 ลดลง -11.37% ที่มูลค่า 18,819 ล้านดอลลาร์ 6. เงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับ 31.41 บาท/ดอลลาร์ในสิ้นเดือนก.ค.63 มาอยู่ที่ 31.21 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนส.ค.63
- กรุงเทพฯ ปริมณฑล
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนส.ค. อยู่ที่ระดับ 33.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 32.4 ในเดือนก.ค. โดยมีปัจจัยบวกสำคัญจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่คลี่คลาย ทำให้ประชาชนเริ่มออกมาท่องเที่ยว และใช้บริการโรงแรมและร้านอาหารมากขึ้น, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ ขณะที่ยังมีปัจจัยลบ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิตนอกบ้านที่ลดลง และยังชะลอการใช้จ่าย, สถานการณ์ทางการเมืองจากกลุ่มม็อบนักเรียน/นักศึกษา, การขยายเวลาบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขาดสภาพคล่องทางการเงิน
- ภาคกลาง
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 32.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 32.0 ในเดือนก.ค. โดยปัจจัยบวกสำคัญ คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่คลี่คลาย ทำให้ประชาชนเริ่มออกมาท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ สถานการณ์น้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก, การขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ, ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น
- ภาคตะวันออก
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 37.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 35.9 ในเดือนก.ค. โดยปัจจัยบวกสำคัญ คือ ความกังวลสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศลดลง ทำให้เกิดมีการเดินทางและการท่องเที่ยวมากขึ้น, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ พนักงานถูกเลิกจ้างจำนวนมากจากปัญหาเศรษฐกิจ รายได้ของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เหตุเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 31.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 31.0 ในเดือนก.ค. โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ ภาคเกษตรฟื้นตัว เนื่องจากเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชเกษตรสำคัญ รวมทั้งมีนโยบายจากภาครัฐช่วยสนับสนุนภาคเกษตร, นักท่องเที่ยวชาวไทยเริ่มออกไปท่องเที่ยวตามต่างจังหวัดมากขึ้น ขณะที่ยังมีปัจจัยลบ เช่น รายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวยังชะลอตัว, การปรับลดพนักงานของภาคธุรกิจ, ภัยธรรมชาติส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร, ปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น
- ภาคเหนือ
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 32.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 32.0 ในเดือนก.ค. โดยปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ รายได้เกษตรกรดีขึ้นจากช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลัก, ความกังวลต่อสถานการณ์โควิดเริ่มลดลง และหน่วยงานต่างๆ เริ่มกลับมาจัดกิจกรรม ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ปัญหาฝนตกหนักจนเกิดน้ำป่าไหลหลาก สร้างความเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่, สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยยังชะลอตัวต่อเนื่อง จากที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้าไทยได้, หนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น
- ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 29.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 28.8 ในเดือนก.ค. โดยปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ ความต้องการผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์การใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ทำจากยางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว, รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อและการลงทุนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยลบสำคัญ เช่น ฝนตกหนักบางพื้นที่จนทำให้เกิดความเสียหาย, การท่องเที่ยวยังชะลอตัวจากที่ยังไม่เปิดประเทศให้ต่างชาติเดินทางเข้าไทย, ภาระหนี้สินทางธุรกิจเพิ่มขึ้น และปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน
สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีไปถึงภาครัฐเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา มีดังนี้
1. รัฐบาลควรสนับสนุนให้เกิดการจัดสัมมนาในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยเฉพาะในช่วงวันธรรมดา
2. ส่งเสริมให้เกิดการหยุดยาว เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างๆ เช่น การท่องเที่ยวเพื่อการลดหย่อนภาษี
3. ออกมาตรการที่รัดกุมเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวจากต่างชาติ โดยเน้นการเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูง และเป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้เป็นอย่างดี
4. ส่งเสริมให้เกิดการค้าชายแดนเพิ่มมากขึ้น เช่น การขนส่งสินค้าระหว่างกัน
5. เร่งเบิกจ่ายงบประมาณในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่าย และสร้างงานในพื้นที่
6. จัดสรรดูแลแหล่งน้ำสำหรับเกษตร และการอุปโภคบริโภคให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
7. สร้างความเชื่อมั่นภายในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการสร้างภาพลักษณ์ให้นักลงทุนต่างประเทศต้องการเข้ามาลงทุนกับประเทศไทยเพิ่มขึ้น