วงสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2020 หัวข้อ"อุตสาหกรรมไทยกับการปรับตัวรับ New Normal ด้านพลังงาน" จัดโดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการใช้พลังงานของโลกปรับตัวลดลง และน่าจะยังไม่ฟื้นตัวได้เร็ว ซึ่งภาครัฐบาลก็ต้องปรับแผนใหม่ให้เหมาะสมรับมือกับความต้องการใช้พลังงานที่จะไม่เติบโตอย่างรวดเร็วเหมือนเดิม เพื่อรักษาปริมาณสำรองไฟฟ้าให้อยู่ในระดับเหมาะสม ตลอดจนการช่วยเหลือให้เกิดการจ้างงานช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเตรียมนำเสนอ 4 ร่างแผนพลังงานหลักเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็ว ๆ นี้ หากผ่านพร้อมเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน
ขณะที่ภาคผู้ผลิตพลังงานทั้งในส่วนของเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานไฟฟ้า ยังเชื่อมั่นว่าจะยังมีเพียงพอกับความต้องการใช้ที่ไม่ได้เติบโตมากนัก ด้านราคาพลังงานน่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่ก็จะยังไม่ได้ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกันเพราะซัพพลายยังคงมีอยู่มาก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะยังเห็นการเติบโตอย่างชัดเจน สอดคล้องกับเทรนด์การดูแลสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีของระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ที่มีประสิทธิภาพและราคาต่ำลง ก็จะช่วยลดการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติม
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการใช้พลังงานของประเทศลดลง ทำให้โรงไฟฟ้าไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มที่ และส่งผลให้ปริมาณสำรองสูงขึ้นมาอยู่ระดับ 37-40% ในปัจจุบัน ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักก็ลดลงตามไปด้วย รวมถึงภาคอุตสาหกรรมหยุดหรือลดการผลิตในช่วงโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ก๊าซฯและไฟฟ้าลดลงไปเช่นกัน กรณีดังกล่าวส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวลดลงด้วย แม้จะส่งผลดีต่อผู้บริโภค แต่ก็กระทบต่อผู้ประกอบการด้านพลังงานเช่นกัน
สำหรับคาดการณ์ในระยะ 20 ปีข้างหน้าเดิมสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเฉลี่ยได้เกือบ 4% ต่อปี แต่ปัจจุบันคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 2.8% ต่อปีเท่านั้น ทำให้ต้องมีการปรับแผนพลังงานเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์การใช้พลังงานที่ลดลง
แต่ในระหว่างนี้กระทรวงพลังงานก็จะยังคงดำเนินงานตามแผนเดิม และช่วยผลักดันให้เกิดการลงทุนเพื่อเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำเสนอร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ,ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกพ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) ,ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561-2580 (EEP 2018) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561-2580 (Gas Plan 2018) เข้าสู่ที่ประชุมครม. ซึ่งหากครม.อนุมัติ โดยเฉพาะในแผน PDP 2018 Rev.1 ก็พร้อมที่จะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนทันที
ทั้งนี้ ตามร่างแผน PDP 2018 Rev.1 ภายในปี 63-70 จะต้องดำเนินการ 1. การลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสร้างโรงไฟฟ้ารวม 5,901 เมกะวัตต์ (MW) และระบบสายส่งไฟฟ้า 30 โครงการ 2. การลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของภาคเอกชน 6,940 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 3. รับซื้อไฟฟ้าประเทศเพื่อนบ้าน 1,214 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการที่มีสัญญาแล้ว 514 เมกะวัตต์ และเปิดรับซื้อใหม่ 700 เมกะวัตต์
4. รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE) ที่มีสัญญาผูกพันเดิม 1,179 เมกะวัตต์ และ 5. เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่ 2,973 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้เป็นโรงไฟฟ้าชุมชน 1,933 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ , โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 120 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าพลังงานลม 270 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโซลาร์ภาคประชาชน 250 เมกะวัตต์
ขณะที่วิกฤติโควิด-19 โดยรวมไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศ โดยตามร่าง Gas Plan 2018 จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในส่วนของ 1.คลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) ,โครงข่ายท่อส่งก๊าซฯ ,คลัง LNG ลอยน้ำ (FSRU) 2. การปรับโครงสร้างกิจการก๊าซฯ ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ 3.ส่งเสริมการใช้ LNG ในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง 4. การส่งเสริม LNG Regional Hub เป็นต้น
สิ่งที่กระทรวงพลังงานจะต้องดำเนินการต่อไป ได้แก่ การดูทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อปรับปรุงค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความเป็นจริงภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ,จัดทำแผนงานระยะสั้น 5-10 ปี เพื่อลดสำรองไฟฟ้าที่สูงอย่างไร ซึ่งมีหลายแนวทาง เช่น การปรับเลื่อนโรงไฟฟ้า หรือชะลอแผนการซื้อขายไฟฟ้า หรือการขายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนเตรียมความพร้อมรองรับ Disruptive Technology ทั้งในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) , ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) , Smart Grid เป็นต้น
นายโกมล บัวเกตุ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า แผนงานพลังงานในส่วนความรับผิดชอบของ พพ. ได้แก่ ร่างแผน EEP 2018 ที่มีเป้าหมายลดค่าความเข้มของการใช้พลังงาน (Energy Intensity: EI) ลง 30% ภายในปี 80 เมื่อเทียบกับปี 53 สามารถลดการใช้พลังงาน 49,064 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) และร่างแผน AEDP 2018 จะมีสัดส่วนพลังงานทดแทนในภาคไฟฟ้า 5.75% ,ความร้อน 21.50% และเชื้อเพลิงชีวภาพ 3.22% เพื่อรักษาสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนโดยรวมให้อยู่ระดับ 30% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี 80 โดยมีโครงการสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมการใช้ B10 ,E20 ,การตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล ขยะ เป็นต้น
ด้านนายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้พลังงานของโลกลดลง ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า ถ่านหิน เพราะความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมหายไป แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นคือการใช้พลังงานทดแทนยังเติบโตใกล้เคียงระดับเดิม
อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาพลังงานหลักอย่างราคาน้ำมันน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงล็อกดาวน์ หลังจากนี้มองว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวและรักษาระดับอยู่ได้ที่ 40-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และราคาคงไม่ได้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะซัพพลายยังคงมีอยู่มาก โดยผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็เริ่มปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ หรือปรับรูปแบบการขายใหม่ ตลอดจนมีความร่วมมือระหว่างพันธมิตรมากขึ้น
นายสาธิต ครองสัตย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า เดิมคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในปีนี้จะใกล้เคียงกับปีก่อน แต่หลังสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ หดหายไป ส่งผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า แต่ล่าสุดความต้องการใช้ไฟฟ้ากลับมาแล้วหลังจากทางการได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เชื่อว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว หากไม่เกิดการระบาดรอบสอง ขณะที่เชื่อว่าหลังจากนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าคงจะเติบโตไม่ได้มากเหมือนในอดีตที่ขยายตัวปีละ 6-7% โดยอาจจะเพิ่มขึ้นเพียงแค่ปีละ 1-2% เท่านั้น ทำให้ต้องปรับแผนงานการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความสมดุล ท่ามกลางเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากขึ้นทำให้ในอนาคตอาจจะไม่ต้องเพิ่มสายส่งมากเหมือนในอดีต ก็อาจจะเป็นการปรับเป็นการใส่อุปกรณ์เพื่อสามารถขยายกำลังส่งได้มากขึ้น เป็นต้น
นายศิริเมธ ลี้ภาภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กรและบริหารบริษัทในเครือ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี (GPSC) กล่าวว่า ธุรกิจไฟฟ้าไม่ได้กังวลเรื่องของดีมานด์และซัพพลายไฟฟ้าหลังสถานการณ์โควิด-19 มากนัก แต่มีความเป็นห่วงเสถียรภาพของไฟฟ้า เนื่องจากทิศทางของโลกกำลังมุ่งไปสู่การลงทุนพลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีสัดส่วนถึง 50% ของการใช้พลังงานของโลก ในปี 78 จากปีนี้ที่อยู่ที่ระดับ 27%
ขณะที่มีการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) มากขึ้น ทำให้แนวโน้มราคาแบตเตอรี่ปรับลดลงมามากจากช่วง 10 ปีที่แล้ว และมีโอกาสจะปรับลดลงอีกในระยะต่อไป ทำให้เป็นส่วนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเรื่องความเสถียรของพลังงานหมุนเวียน และจะช่วยลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในอนาคตได้ โดยในส่วนของ GPSC ได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ Semi Solid ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการผลิตในปีหน้า ด้วยกำลังการผลิตระยะแรก อยู่ที่ 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ก่อนขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 100 MWh ต่อไป
รวมถึงยังอยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับ ปตท.ถึงความเป็นไปได้ในการขอรับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) แต่ก็ต้องประเมินทิศทางราคา LNG ด้วย ซึ่งปัจจุบันราคาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู จากก่อนหน้านี้ที่อยู่ระดับ 2-3 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู และคาดว่าอีก 15 เดือนข้างหน้า ราคา LNG spot จะสูงขึ้น ฉะนั้น หากถึงเวลาดังกล่าวบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) สามารถบริหารจัดการแหล่งก๊าซฯในอ่าวไทยได้อย่างมีศักยภาพ และราคาถูกลง ก็อาจจะทำให้ความจำเป็นในการซื้อ LNG Spot ลดลงด้วย
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) กล่าวว่า บริษัทคาดหวังที่จะนำเข้า LNG หลังจากได้รับใบอนุญาต Shipper แล้ว ซึ่งจากข้อมูลพบว่า แม้ว่าราคา LNG ก่อนหน้านี้จะอยู่ที่ 2-3 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู และปัจจุบันเริ่มเข้าฤดูหนาว ทำให้ราคาเพิ่มเป็น 4 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ยังไม่รวมกับต้นทุนบริหารจัดการ เช่น ค่าขนส่ง ค่าผ่านท่อฯ โดยจากที่เคยหารือกับบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการคลังและขนส่ง LNG คาดว่าค่าบริการขนส่งทางท่อฯ จะอยู่ที่ประมาณ 1 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งก็ยังคุ้มค่าที่จะดำเนินการ เพราะบริษัทจะพิจารณาการจัดซื้อ LNG ในรูปแบบสัญญาระยะยาว เป็นการทำประกันความเสี่ยงให้ราคา LNG มีเสถียรภาพ หรืออยู่ที่ประมาณ 5-6 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศ และลูกค้าอุตสาหกรรมด้วยที่จะมีอัตราค่าไฟฟ้าต่ำลง
ด้านนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กล่าวว่า สถานการณ์ความต้องการใช้พลังงานเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อผู้ใช้พลังงานในปัจจุบันก็ผันตัวมาเป็นผู้ผลิตเอง (Prosumer) และการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำให้ระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าต้องมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับสมาร์ทกริดเป็นหลัก เพราะจะต้องมีข้อมูลทั้งภาคการผลิตและการใช้ที่มีความรวดเร็วมากขึ้น