นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย ยืนยันการเพิ่มเติมคำนิยาม"คนต่างด้าว" เรื่องการควบคุมอำนาจในการบริหารจัดการของกรรมการบริษัทในร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของต่างชาติ
ทั้งนี้ กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยเสนอให้เพิ่มคำนิยาม"คนต่างด้าว" โดยเพิ่มเรื่องการควบคุมบริหารจัดการตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยเสนอความเห็นเข้าไปด้วย หากต่างชาติสามารถเข้ามาบริหารจัดการได้ก็ให้ถือเป็นต่างด้าว จากเดิมร่างของรัฐบาลกำหนดคำนิยาม"คนต่างด้าว" โดยพิจารณาเฉพาะสัดส่วนการถือหุ้นที่ไม่เกิน 49% และสิทธิในการออกเสียง
"ผมไม่อยากให้มองว่าการเปลี่ยนแปลงคำนิยาม(คนต่างด้าว) มีผลกระทบต่อการลงทุน เพราะอย่างที่บอก ไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่ส่งเสริมการลงทุนโดยการให้คนปลอมตัวไปเป็นคนของเขา"
"หัวใจของกฎหมายคืออย่าให้คนต่างด้าวปลอมเป็นไทย แต่ให้เข้ามาทำธุรกิจในไทยแบบคนต่างด้าว แล้วนโยบายการส่งเสริมก็ทำเหมือนประเทศอื่น คือปรับปรุงประเภทธุรกิจให้ชัดเจนและกว้างขวางขึ้น อย่าไปสงวนอาชีพธุรกิจสะเปะสะปะไปหมด และอย่าเข้มงวดจนเขาไม่อยากเข้ามาทำ แต่ต้องปลอมตัวเข้ามาทำ" นายสมชาย กล่าวในรายการวิทยุเช้านี้
นายสมชาย กล่าวว่า การแก้ไขคำนิยาม"คนต่างด้าว" โดยให้ครอบคลุมถึงอำนาจการบริหารจัดการของกรรมการบริษัทนั้น กรรมาธิการเสียงข้างน้อยเห็นตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยนเสนอไว้ เพราะการควบคุมต่างชาติไม่ให้เข้ามาประกอบธุรกิจที่สงวนไว้สำหรับคนไทยจำเป็นต้องดูในเรื่องนี้ด้วย
"ที่ผมเสนอ เป็นคำนิยามที่กฤษฏีกากำหนด เพราะถ้าต้องการควบคุมคนต่างด้าวไม่ให้เข้ามาทำธุรกิจสงวนนั้น การเพิ่มเฉพาะสิทธิการออกเสียงไม่เพียงพอ ควรเพิ่มเติมอำนาจการควบคุมบริษัทเข้าไปด้วย ที่เราขอเพิ่ม เราลอกตามที่กฤษฎีกาเขียนไว้ทุกประการ" นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย เห็นว่า ถ้ารัฐบาลต้องการจะส่งเสริมการลงทุน วิธีที่เหมาะสมคือการสนับสนุนให้เข้ามาลงทุนอย่างคนต่างชาติที่ถูกต้อง และควรผ่อนผันประเภทของธุรกิจที่จะให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุน แต่ไม่ใช่การไปผ่อนคลายคำนิยาม"คนต่างด้าว"
"ถ้าเราต้องการส่งเสริมการลงทุน ไม่ใช่ไปผ่อนคลายคำนิยามหรือการให้สัญชาติแล้วให้เขาหลีกเลี่ยงไปทำธุรกิจประเภทที่เรียกว่าไทยเทียม แต่เราควรให้เขาเข้ามาลงทุนแบบคนต่างด้าว เรายินดีต้อนรับการลงทุน ให้เข้ามาลงทุนแบบคนต่างด้าว ถ้าเราจะผ่อนผันควรผ่อนผันที่ประเภทของธุรกิจ" นายสมชาย กล่าว
วานนี้(8 ส.ค.) นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ขอถอนร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ในฉบับของรัฐบาลเพื่อนำกลับไปปรับปรุงแก้ไขใหม่ หลังจากที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบให้แก้ไขคำนิยามคนต่างด้าวตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อยด้วยคะแนนเสียง 76 ต่อ 64 และท้ายสุด สนช.มีมติเห็นชอบให้กรรมาธิการวิสามัญฯ ถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปปรับปรุงด้วยคะแนนเสียง 134 ต่อ 3
นายสมชาย ระบุว่า การที่ สนช.ลงมติให้นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไปปรับปรุงแก้ไขใหม่ ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลแพ้ญัตติ เพราะถ้าแพ้จะหมายถึงการที่ สนช.ไม่รับร่างกฎหมายของรัฐบาล เพราะความจริงแล้ว สนช.ยังไม่ได้ลงมติว่าไม่รับ เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้จึงเป็นเรื่องระหว่างกรรมาธิการเสียงข้างน้อยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--