นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "ทิศทางเศรษฐกิจโลกและไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร" กล่าวว่า แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของไทยดูว่ากลัวการแพร่ระบาดมากเกินไป ทั้งที่ช่วงเริ่มเผชิญวิกฤตโควิด-19 ถึงปัจจุบันสัดส่วนผู้ป่วยต่อผู้เสียชีวิตลดลงจาก 8.5% มาอยู่ที่ 2.1%
สถานการณ์ขณะนี้สะท้อนให้เห็นว่าทั่วโลกมีการเปิดประเทศมากขึ้นเพื่อผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้มีข่าวว่าหลายประเทศกำลังแข่งกันเปิดประเทศแล้ว เช่น อังกฤษประกาศเปิดรับคนไทยเข้าประเทศโดยไม่กักตัว สิงคโปร์กำลังจะลดเวลากักตัวเหลือ 7 วัน ส่วนมาเลเซียจะลดเวลากักตัวเหลือ 5 วัน
เนื่องจากวิวัฒนาการทางการแพทย์ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีขึ้นจากช่วงแรก ทำให้ต่างประเทศคิดว่าจะต้องอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ กล่าวคือหากมีการแพร่ระบาดในจำนวนที่สามารถควบคุมได้ เพราะหากจะให้ประเทศปลอดจากการติดเชื้อจะต้องมีต้นทุนที่สูงมาก ส่วนตัวเชื่อว่าขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเกิน 30 ล้านคนแน่นอนแต่ไม่แสดงอาการ ซึ่งเรื่องนี้สหรัฐมองว่าหากดูแลให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงเหลือวันละไม่เกิน 2 พันคนก็สามารถรับได้ ขณะที่ประเทศไทยแค่มีผู้ติดเชื้อเพียงคนเดียวก็วิตกกังวลไปกันใหญ่
และอีกประเด็นที่มีความกังวลมากเกินไปคือสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ที่สูงขึ้นจากการกู้เงินของรัฐบาล เพราะหากรัฐบาลกู้เงินมาเพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้วทำให้ GDP ขยายตัวได้ดีขึ้นก็จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะลดลงในที่สุด
นายศุภวุฒิ ยังเสนอให้ฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจด้วยการสนับสนุนสตาร์ทอัพ โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกพันธบัตรที่มีอัตราดอกเบี้ย 0.01% มาให้รัฐบาลกู้แล้วนำไปใช้สนับสนุนการลงทุนของสตาร์ทอัพเหล่านี้ เช่น การสนับสนุนเงินลงทุนให้ 50% เป็นเวลา 7 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วก็ให้เอกชนสามารถซื้อกิจการคืนจากรัฐในราคา 1.3 เท่า โดยรัฐมีกำไรเล็กน้อย หรือรัฐพิมพ์ธนบัตรอัดฉัดเข้าระบบเหมือนในต่างประเทศที่น่าแปลกใจว่าไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างที่กังวลกัน เพราะขณะนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำ
ส่วนกรณีที่เอกชนเสนอขอขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปีนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหา เพราะหากปล่อยให้ธนาคารแก้ปัญหาเองก็เท่ากับเป็นการผลักภาระให้ธนาคารเป็นผู้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดหนี้เสียราว 7 แสนล้านบาท และการที่รัฐจัดสรรงบเพื่อจ้างงานผู้จบการศึกษาใหม่นั้นอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน เป็นเพียงแค่ประวิงเวลาเพื่อรอการพัฒนาวัคซีนออกมาใช้เท่านั้น ขณะเดียวกันอาจจะเป็นการไปแย่งแรงงานจากเอสเอ็มอี
นายศุภวุฒิ ยังกล่าวถึงการดำเนินโครงการ EEC ว่า ขณะนี้ควรมีการทบทวนโครงการทั้ง 5 ด้าน คือ รถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน, ศูนย์ซ่อมอากาศยาน, สนามบินอู่ตะเภา, ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง หากโครงการที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องรีบดำเนินการ เพราะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง และการส่งออกลดลง
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่รัฐบาลควรพิจารณา เช่น การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยรัฐบาลต้องมีแนวคิดในการดูแลเรื่องสุขภาพ เพื่อลดภาระของประเทศเกี่ยวกับงบค่ารักษาพยาบาล โดยให้น้ำหนักในเรื่องการป้องกันมากกว่าการรักษาพยาบาล แต่การจัดสรรงบประมาณขัดแย้งกัน โดยงบของ สสส.ที่มีภารกิจในการดูแลเรื่องสุขภาพมีราวสองพันล้านบาท แต่งบบัตรทองมีมากถึงสองแสนล้านบาท