นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า พื้นที่ EEC ได้มีมูลค่าการลงทุนแล้วตั้งแต่ปี 60-62 มูลค่ากว่า 9 แสนล้านบาท จากเป้าหมายทั้งหมด 1.7 ล้านล้านบาทในช่วงปี 60-65 โดยเป็นยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในปี 60 จำนวน 3.3 แสนล้านบาท ในปี 61 มียอดขอรับการส่งเสริมฯ อีกจำนวน 3.7 แสนล้านบาท ส่วนปี 62 มียอดขอรับการส่งเสริมฯ ลดลงมาที่ 1.7 แสนล้านบาท เพราะมีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
ส่วนในปี 63 ยังไม่มียอดขอรับการส่งเสริมฯ เพราะติดปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ก็มีเม็ดเงินลงทุนจาก 3 โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่า 2.4 แสนล้านบาท, โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท และ ท่าเรือมาบตาพุด มูลค่า 5.5 หมื่นล้านบาท ทั้ง 3 โครงการเริ่มลงทุนรวมกันมูลค่า 9 หมื่นล้านบาทในปีนี้
นายคณิศ คาดว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จบเร็วการลงทุนน่าจะกลับมา โดยคาดจะมีการผลิตวัคซีนได้ในไตรมาส 1/64 ขณะที่มองว่าการลงทุนภาคอุตสาหกรรมแม้จะล่าช้าไปบ้างเนื่องจากต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ แต่ไม่น่าเกิน 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ในส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่ค่อยรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 มากนัก
ทั้งนี้ เม็ดเงินลงทุนที่เหลือประมาณ 8 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่องของ 3 โครงการดังกล่าว และการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve
"คาดหวังการลงทุนในปี 64-65 จะเป็นการลงทุน S-Curve ใหม่ ที่มีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ อาทิ Medical Hub , Aviation , Automation ซึ่งจะมีเม็ดเงินลงทุนมากขึ้น แม้ปริมาณไม่ได้มากขึ้น แต่มูลค่ามากขึ้น จาก 1.7 แสนล้านบาทก็เป็น 3 แสนล้านบาท การลงทุนเรื่อง New Technology เช่นเรื่อง Robotic , Aviation ยังน้อย แต่ในอนาคตข้างหน้าก็จะเป็นการลงทุน New Technology มากขึ้น ต้องไปทำเรื่อง Logistic มากขึ้น ต้องไปทำ Medical Hub มากขึ้น เพื่อให้ portion การลงทุนที่มีคุณภาพเยอะขึ้นอย่างที่เราอยากได้" เลขาธิการ EEC กล่าว
ด้านนายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ขณะนี้ภาพรวมของแผนแม่บทนั้นทางบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA)ได้ส่งมาแล้ว
และในส่วนงานก่อสร้างรันเวย์ 2 มูลค่าโครงการ 2.7 หมื่นล้านบาทที่สนามบินอู่ตะเภา ทางกองทัพเรือ (ทร.) และ EEC อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ที่เตรียมส่งให้ สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ใน 1-2 สัปดาห์นี้ซึ่งน่าจะใช้เวลาอนุมัติราว 3-4 เดือน ขณะเดียวกันก็เตรียมเปิดประมูลให้เอกชน ซึ่งดำเนินการคู่ขนานกันไปและจะเซ็นสัญญาหลัง EHIA ผ่านแล้ว
ทั้งนี้ คาดว่าในเบื้องต้นโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ที่จะดำเนินการในเฟสแรก จะมีอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 ที่รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน/ปี ที่พร้อมด้วยหลุมจอดอากาศยาน ธุรกิจคาร์โก้ศูนย์การขนส่งภาคพื้น รวมทั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานขนาดเล็ก
นายคณิศ กล่าวอีกว่า ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ในพื้นที่ EEC มีพื้นที่ 500 ไร่มูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นพื้นที่ 200 ไร่ ที่ให้ บมจ.การบินไทย (THAI) ดำเนินการ ซึ่งทางการบินไทยรับที่จะบรรจุโครงการ MRO TG ไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งคาดว่าในเดือนม.ค.- ก.พ. 64 จะเคาะแผนฟื้นฟู มี 3 ทางเลือก คือหาผู้ร่วมทุน หรือลงทุนโดยใช้เทคโนโลยีของแอร์บัส หรือ ลงทุนเอง
ส่วนพื้นที่อีก 300 ไร่ที่จะให้เอกชนรายอื่นเข้ามาลงทุน ซึ่งก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เจรจากับกับกลุ่มแอร์เอเชีย แต่หลังจากโควิด ทำให้ธุรกิจการบินได้รับผลกระทบ คาดว่าจะใช้เวลากว่า 2 ปีกว่าธุรกิจจะฟื้นตัวได้
ด้านนายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา กรรมการ UTA กล่าวว่า บริษัทได้ว่าจ้าง Narita International Airport Corporation ซึ่งเป็นผู้บริหารสนามบินนาริตะที่เป็นสนามบินที่มีบริการที่ดีและใช้เทคโนโลยีทันสมัย โดยเฉพาะเทคโนโลยีสแกนหน้าโดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ต ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และมีความปลอดภัย โดยระหว่างอยู่ระหว่างเจรจาถึงวงเงินค่าจ้างและระยะเวลา
อนึ่ง โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมี UTA เป็นผู้รับสัมปทาน 50 ปี ทั้งโครงการจะรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน/ปี คาดเริ่มเปิดให้บริการในปี 68 บนพื้นที่ 6,500 ไร่