(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย ก.ค.50 ส่งออกโต 5.9% นำเข้าโต 2.4% เกินดุล 211 ล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 21, 2007 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ก.ค.50 ขยายตัวเหลือเพียง 5.9% คิดเป็นมูลค่า 11,810 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 29 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.พ.48 
ขณะที่ยอดส่งออกช่วง 7 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ค.) เติบโต 16.6% มูลค่า 83,409 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 57.1% ของเป้าหมายมูลค่าการส่งออกโดยรวม ซึ่งการส่งออกสินค้ายังเพิ่มขึ้นในทุกหมวด โดยสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่มขึ้น 16.5%, สินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 16.5% และสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้น 17.2%
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกเดือน ก.ค.50 ที่ขยายตัวในอัตราต่ำลงยังไม่สามารถวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ชัดเจนได้ในทันที แต่ในเบื้องต้นคาดว่าจะมาจากปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว และเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง จึงทำให้สหรัฐนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง และยังมีสาเหตุมาจากเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าทำให้ความสามารถทางการแข่งขันในสินค้าไทยบางประเภทลดลง รวมถึงผู้ประกอบการมีแรงจูงใจที่จะส่งออกน้อยลง ซึ่งเป็นผลมาจากกำไรในรูปของเงินบาทลดลง
"ยอดส่งออกเดือนกรกฎาฯ ขยายตัวต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐชะลอตัว และแนวโน้มค่าเงินบาทบาทยังแข็งต่อ...ตัวเลข(ส่งออก)ยังผิดปกติ เพราะฉะนั้นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าเป็นเพราะอะไร เดือนหน้าน่าจะเห็นทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น" นายเกริกไกร กล่าว
ส่วนการนำเข้าขยายตัว 2.4% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 11,599 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ยอดนำเข้าช่วง 7 เดือนแรกโต 5.1% มูลค่า 77,693 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ส่งผลให้เดือน ก.ค.ไทยเกินดุลการค้า 211 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดุลการค้าช่วง 7 เดือนแรกเกินดุล 5,716 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในเดือน ก.ค.50 ที่อัตราการขยายตัวชะลอลง ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 10.6% สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัว 2% ส่วนตลาดส่งออกหลักพบว่าอัตราการขยายตัวชะลอลงค่อนข้างมากโดยเฉพาะตลาดสหรัฐที่การส่งออกลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐลดลง คือ เสื้อผ้าสำเร็จรูป, วิทยุ, โทรทัศน์, อาหารทะเลกระป๋อง เป็นต้น
ส่วนปัญหาซับไพร์มของสหรัฐจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปีนี้หรือไม่นั้น นายเกริกไกร เห็นว่า จะต้องพิจารณาผลกระทบดังกล่าวอีกระยะ แต่เชื่อว่าแนวโน้มการส่งออกทั้งปีนี้จะเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่ 12.5% เนื่องจากเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ 5% ภาวะการค้าโลกจะเติบโตได้ 7% แนวโน้มเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้นประกอบกับภาครัฐพยายามร่วมมือกับเอกชนเพื่อขยายตลาดส่งออกใหม่
อย่างไรก็ดี หากการส่งออกในปีนี้สามารถขยายตัวได้ถึง 15% ตามที่คาดการณ์ไว้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ