นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้(LALIN) ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากปัจจัยทางด้านการเมืองโดยเฉพาะการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ผ่านไปด้วยดีส่งผลให้บรรยากาศการเมืองดีขึ้น อีกทั้งจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปลายปีนี้ซึ่งจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาช่วยสร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้น
แต่ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์คือ เรื่องอัตราดอกเบี้ย และความชัดเจนของเส้นทางรถไฟฟ้า โดยเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อย 0.25-0.5% เพราะขณะนี้ปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวลอีกต่อไป นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ควรจะลดอัตราดอกเบี้ยลงตามให้สอดคล้องกับการลดลงของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนที่ยังชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ให้ปรับเพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยเรื่องความชัดเจนของเส้นทางรถไฟฟ้านั้น รัฐบาลควรรีบตัดสินใจให้เกิดความชัดเจนในเส้นทางการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นความมั่นใจให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์และให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดทิศทางของที่อยู่อาศัยในอนาคตได้ เพราะถ้าตัดสินใจช้าจะทำให้การฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์จะยิ่งล้าช้าออกไป
นายไชยยันต์ ยังมองว่า การที่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าต้องเลื่อนออกไปเพราะติดปัญหาการกู้เงินจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(เจบิก)นั้น เห็นว่าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินกู้จากเจบิกอย่างเดียว แต่น่าจะใช้แหล่งเงินกู้จากในประเทศแทนได้ เช่น การขอวงเงินกู้ระยะสั้น(Bridging Loan) เพราะขณะนี้สภาพคล่องในประเทศยังมีสูง
นายไชยยันต์ เห็นว่า ไม่ควรกังวลกับการลดอัตราดอกเบี้ยแล้วจะทำให้เกิดปัญหาเงินทุนไหลออก เพราะแม้จะมีเงินทุนไหลออกบ้างก็จะส่งผลช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
ด้านนายกิตติ พัฒนพงษ์พิบูลย์ ประธานสมาคมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า อัตราดอกเบี้ยและความชัดเจนของเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นอกเหนือไปจากปัจจัยเรื่องความเชื่อมั่นของประชาชนจากที่สถานการณ์ทางการเมืองได้เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ด้วยเช่นกัน
ส่วนปัญหา sub-prime ในสหรัฐฯ แม้จะส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยบ้าง แต่เชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับธนาคารพาณิชย์ของไทยในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ซื้อที่มีความสามารถต่ำในการชำระหนี้คืน
"แนวโน้ม(ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์)คิดว่าครึ่งปีหลังจะดีขึ้น เพราะปัญหาใหญ่ๆ ก็ลุล่วงไปแล้ว เช่น การรับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนปัญหาที่ยังค้างคาอยู่คือการกำหนดวันเลือกตั้งที่นายกฯ จะคุยวันนี้ สถานการณ์มีแต่จะดีขึ้น ที่ยังน่าเป็นห่วงมีอย่างเดียวคือปัจจัยต่างประเทศเรื่องปัญหา sub-prime ที่ทำให้เกิดผลกระทบบ้างแต่ที่เป็นผลดีคือเป็นบทเรียนกับประเทศไทยทำให้ธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น" นายกิตติ กล่าวในงานสัมมนา "การบูรณาการข้อมูลอสังหาริมทรัพย์"
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/กษมาพร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--