ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ยังคงประมาณการการส่งออกไทยปี 2563 หดตัวที่ -12.0% ขณะที่มีความเป็นไปได้ที่มูลค่าการส่งออกไทยในปีนี้ จะหดตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ดังกล่าว โดยจากตัวเลขการส่งออกไทยในเดือนส.ค.63 อยู่ที่ 20,212.3 ล้านเหรียญฯ หดตัว -7.9% YoY ส่งผลให้ 8 เดือนแรกการส่งออกไทยหดตัว -7.8% YoY อย่างไรก็ดี หากหักสินค้าเกี่ยวกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธฯ การส่งออกไทยเดือนส.ค.63 จะหดตัวที่ -14.1%YoY ซึ่งเป็นอัตราที่เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ -13.0% YoY
หากพิจารณารายตลาดส่งออกของไทย พบว่า สหรัฐฯ เป็นเพียงตลาดหลักตลาดเดียวที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวเป็นบวกในเดือนส.ค.63 ที่ 15.2% YoY แต่ก็เติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกของไทยไปยังตลาดหลักอื่นๆ ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกไทยไปยังจีนหดตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ 4.0% YoY ในเดือนส.ค.63 อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ในจีนยังคงอ่อนแรง แม้ว่าเศรษฐกิจจีนโดยรวมจะมีการฟื้นตัว ประกอบได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่าแม้ใน 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.63) การส่งออกไทยหดตัวน้อยกว่าที่ประเมิน แต่ทิศทางการส่งออกไทยปี 2563 ยังเผชิญสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเสี่ยงสูง ประกอบกับทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนอย่างมาก โดยสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเข้าใกล้ฤดูหนาว
"ในขณะนี้ หลายประเทศในยุโรปก็เผชิญการแพร่ระบาดระลอกสอง ซึ่งดูเหมือนจะรุนแรงกว่าในรอบแรก ก่อให้เกิดความกังวลต่อการนำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้" บทวิเคราะห์ระบุ
นอกจากนี้ ประเด็น Brexit ที่มีแนวโน้มสูงว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงในวันที่ 1 ม.ค.64 จะสร้างความผันผวนแก่ตลาดเงินโลก ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มที่จะยกระดับความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันการค้าโลกและเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ดังนั้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของเศรษฐกิจโลก การส่งออกไทยน่าจะยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์โลกที่มีแนวโน้มอ่อนแรงอยู่ ขณะที่การส่งออกทองคำ จะยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกไทยมีความผันผวน