SCB EIC คาดกนง.คงดบ.ตลอดปี แต่ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 24, 2020 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) โดย Economic Intelligence Center (EIC) คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำที่สุดในประวัติการณ์ที่ 0.50% ในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด (bottomed out) หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ โดยดัชนีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงมูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำและอาวุธในเดือนกรกฎาคมหดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน

แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเป็นไปอย่างช้า ๆ สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจหลักล่าสุดเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชะลอลง (stalling economic recovery) เช่น มูลค่าการส่งออกไทย (ไม่รวมทองคำและอาวุธ) ของเดือนสิงหาคมที่ออกมาล่าสุดที่ -14.3% เป็นการหดตัวในอัตราที่เท่ากับเดือนก่อน (แต่น้อยลงจากสองและสามเดือนก่อนหน้า)

นอกจากนี้ ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ออกมาในรอบนี้ใกล้เคียงกับที่ EIC ได้ประเมินไว้ กล่าวคือ ธปท. ประเมิน GDP ปี 63 หดตัว -7.8% เท่ากับที่ EIC ประเมินไว้ ส่วนในปี 64 ธปท. ประเมินว่า GDP จะสามารถกลับมาขยายตัวได้ที่ 3.6% ใกล้เคียงกับที่ EIC ประเมินไว้ที่ 3.5% ด้วยมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไปนี้ จึงทำให้ EIC ประเมินว่าโอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมมีน้อยลง เพื่อรักษาขีดความสามารถของการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ไว้

ภาวะการเงินไทยเริ่มผ่อนคลายลงมาบ้าง ทำให้ความจำเป็นของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อผ่อนคลายภาวะการเงินเพิ่มเติมมีน้อยลง โดยความผันผวนของตลาดการเงินโลกปรับลดลงจากความกังวล (risk-off sentiment) ของนักลงทุนที่ลดลง ด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับเข้าตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยบ้างหลังจากที่เงินทุนไหลออกไปมากจากทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรในช่วงสองไตรมาสแรก นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินไทยในช่วงที่ผ่านมาก็ปรับลดลงมาตามการลดอัตราดออกเบี้ยนโยบายของ ธปท. อีกทั้งยังมีมาตรการสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้

อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตามองภาวะการเงินในด้านการระดมทุนภาคเอกชนที่พบว่า การระดมทุนผ่านทั้งตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้ปรับลดลงมาก โดยตราสารทุนออกใหม่ในช่วง 7 เดือนแรกหดตัวถึง -54%YOY ส่วนตราสารหนี้ออกใหม่ 8 เดือนแรกหดตัวที่ -38.7%YOY โดยเฉพาะตราสารหนี้ออกใหม่ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า investment grade และไม่มีการจัดอันดับ หดตัวถึง -60%YOY อีกทั้ง อัตราการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจ SMEs ยังคงหดตัวแม้ภาครัฐจะมีนโยบายออกมาสนับสนุนบ้างก็ตาม โดยสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจ SMEs ขนาดเล็กมาก (วงเงินน้อยกว่า 20 ล้านบาท) นับตั้งแต่สิ้นปี 62 ถึงไตรมาส 2 ปีนี้หดตัวลง -2.6%YTD

โดย EIC มองว่า ธปท. จะเน้นผ่อนคลายนโยบายการเงินผ่านมาตรการที่ใช้งบดุลของ ธปท. และหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ รวมถึงมาตรการด้านอื่น ๆ มากขึ้น เช่น ส่งเสริมการเข้าร่วมมาตรการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ให้แก่ธุรกิจที่ประสบปัญหาโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และมาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ที่ได้มีออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 1-2 มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยวิธีการรวมหนี้ (debt consolidation) โครงการ DR BIZ ที่บรรเทาภาระหนี้โดยรวมและลดเวลาติดต่อเจ้าหนี้หลายราย รวมถึงโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส (Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ) ที่เพิ่งประกาศออกมาล่าสุด โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสูงสุด 30% และจะค้ำประกันสินเชื่อต่อเนื่องจากโครงการ Soft Loan ของ ธปท. ไปอีกเป็นระยะเวลา 8 ปี เริ่มค้ำประกันตั้งแต่ปีที่ 3 จนถึงปีที่ 10

นอกจากนี้ EIC มองว่านโยบายทางการคลังจะมีบทบาทมากขึ้นในระยะต่อไป โดยเป็นนโยบายที่เน้นไปที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตรุนแรง และกลุ่มที่สามารถช่วยเพิ่มการจ้างงานได้มากขึ้น โดยจากข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (Labor force survery) ในไตรมาสที่ 2/63 พบว่าตลาดแรงงานไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างรุนแรง โดยอัตราการว่างงานปรับสูงขึ้นอย่างมีนัย (จาก 0.98% ณ สิ้นปี 62 มาที่ 1.95% )

โดยกลุ่มที่มีอัตราการว่างงานสูงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มอายุ 15-24 ปี (โดยมีอัตราการว่างงานสูงถึง 8.6%) นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้มีงานทำยังมีชั่วโมงการทำงานลดลงอย่างมีนัยเช่นกัน (จากราว 42.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในปี 62 มาที่ 38.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในไตรมาส 2 ปีนี้) และยังพบอีกว่าจำนวนลูกจ้างที่ระบุว่ามีงานทำแต่ทำงาน 0 ชั่วโมงและไม่มีรายได้ (furloughed workers) ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก (หากนับรวมแรงงานกลุ่มนี้เข้ากับผู้ว่างงาน อัตราการว่างงานจะสูงถึง 7.4%) ด้วยเหตุนี้ การดำเนินนโยบายทางการคลังที่มุ่งเน้นไปที่ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตรุนแรง รวมถึงส่งเสริมการจ้างงานจึงมีความจำเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจไทยปรับแย่ลงกว่าคาดมากหรือภาวะการเงินไทยปรับตึงตัวขึ้นเร็ว EIC เชื่อว่า ธปท. พร้อมพิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม และอาจปรับการสื่อสารให้ชัดเจนขึ้น (forward guidance) โดยหากเศรษฐกิจไทยปรับแย่ลงกว่าที่ ธปท. คาดไว้มากก็อาจทำให้โอกาสในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมมีสูงขึ้น โดยอาจพิจารณาใช้มาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ เช่น

1.การปรับการสื่อสารต่อสาธารณชนให้ชัดเจนขึ้น โดยหนึ่งในเครื่องมือที่ กนง. สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ คือ การพิจารณาใช้ outcome-based forward guidance ดังที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (US Federal Reserve) ได้นำมาใช้ล่าสุด ซึ่งเป็นการให้แนวทางหรือกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่จะต้องบรรลุเป้าหมายก่อนที่ธนาคารกลางจะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้

2.การเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (quantitative easing) และการใช้มาตรการ Bond Stabilization Fund (BSF) โดยมาตรการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในช่วงที่ตลาดเกิดความกังวลสูง (panic) หรือในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินไทยปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วงที่เกิดความผันผวนสูงในตลาดการเงินของไทย (มีนาคม-เมษายน 63) ที่ผ่านมา ธปท. ได้มีจัดตั้ง BSF เพื่อดูและเสถียรภาพในตลาดพันธบัตรเอกชน และมีการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในปริมาณมากมาบ้างแล้ว

3.การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม โดย ธปท. ยังเปิดโอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ ซึ่งหากภาวะการเงินปรับตึงตัวขึ้นมากและเศรษฐกิจมีแนวโน้มกลับมาหดตัวมากกว่าที่คาด กนง. ก็ยังสามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก 1 ครั้ง (25 bps) โดยที่อัตราดอกเบี้ยยังไม่ปรับถึง 0% ทั้งนี้ EIC มองว่า ด้วยสถานการณ์และความเสี่ยงในปัจจุบันนี้ มีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม

4.การดำเนินมาตรการ Yield Curve Control (YCC) โดยผู้ว่าการ ธปท. ได้ระบุไว้ว่าในสถาการณ์ปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็น แต่หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาวปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลให้ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับชันขึ้นมาก (steepening yield curve) จนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ EIC มองว่า ธปท. ก็อาจพิจารณาใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อดูแลอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ