ไทยเตรียมหยิบยกประเด็นที่หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของออสเตรเลียเสนอมาตรการควบคุมการนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มความเข้มงวดขึ้นมาหารือระดับทวิภาคีในที่ประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัยภายใต้ความตกลงการค้าเสรี(FTA) ไทย-ออสเตรเลียใน ส.ค.นี้ เพื่อให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าวเพราะอาจมีผลกระทบกับการส่งออกกุ้งของไทย
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า หากการพูดคุยในครั้งนี้ไม่มีผลคืบหน้า ก็อาจหยิบยกขึ้นหารือในระดับองค์การการค้าโลก(WTO)
"ฝ่ายไทยเห็นว่ามาตรการดังกล่าวเป็นข้อกีดกันทางการค้า และส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้งของไทยในภาพรวม เพราะมาตรการเดิมที่ใช้อยู่ค่อนข้างเข้มงวดอยู่แล้ว แต่การออกมาตรการใหม่ยิ่งเข้มงวดมากขึ้นไปอีก" นางอภิรดี กล่าว
เมื่อเร็วๆ นี้ ออสเตรเลียได้ออกร่างรายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงสำหรับกุ้งและผลิตภัณฑ์ โดยเสนอมาตรการนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดให้มีใบรับรองสุขอนามัย มีการสุ่มตรวจ ณ ด่านนำเข้า ที่มีความเชื่อมั่น 95% และหากตรวจพบเชื้อโรคจะส่งสินค้ากลับหรือทำลายทันที โดยมาตรการใหม่ที่จะกำหนดเพิ่มเติมคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้
ทั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกกุ้งอันดับ 6 ของไทย มีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยปีละประมาณ 1,146.9 ล้านบาท โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มิ.ย.)มีมูลค่าส่งออก 491.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 9.2%
สำหรับมาตรการดังกล่าวจะกำหนดให้สินค้ากุ้งที่ยังไม่ปรุงสุกต้องมาจากประเทศ หรือพื้นที่เพาะเลี้ยงที่ปลอดโรค หรือต้องเป็นกุ้งที่เด็ดหัวแกะเปลือก และผ่านการสุ่มตรวจ ณ ด่านนำเข้าที่มีความเชื่อมั่น 95% ว่าปลอดเชื้อโรคในกุ้ง
นอกจากนี้ ยังต้องระบุที่บรรจุภัณฑ์ว่า เพื่อการบริโภคเท่านั้น และห้ามใช้เป็นเหยื่อหรืออาหารสำหรับสัตว์น้ำ ส่วนสินค้าผลิตภัณฑ์กุ้งที่ยังไม่ปรุงสุกต้องผ่านกรรมวิธีการแปรรูปขั้นสูง โดยต้องเด็ดหัวแกะเปลือก ระบุที่ภาชนะบรรจุว่าเป็นอาหารเพื่อการบริโภคเท่านั้น รวมทั้งต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเห็นสินค้าได้ชัดเจน
ขณะที่สินค้ากุ้งที่ผ่านการปรุงสุกต้องระบุว่าเพื่อการบริโภคเท่านั้น และต้องผ่านการปรุงสุกที่อุณหภูมิ 75 องศาเซลเซียส โดยกุ้งขนาดเล็กใช้เวลาอย่างต่ำ 2 นาที ขนาดกลางอย่างต่ำ 2.15 นาที และขนาดใหญ่อย่างต่ำ 3 นาที
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--