นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวในงานสัมมนา "BATTLE STRATEGY แผนฝ่าวิกฤต พิชิตสงคราม EPISODE II : DON'T WASTE A GOOD CRISIS พลิกชีวิตด้วยวิกฤตการณ์" ในหัวข้อ "นโยบายรัฐ...ชี้ชะตาชีวิตหลังโควิด"ว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสกลับเข้าสู่ภาวะปกติในอีก 2 ปีข้างหน้าก่อนจะฟื้นตัวในปี 66 บนสมมติฐานการมีวัคซีนต้านโควิด-19 และไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ซึ่งก็จะนับว่าเร็วกว่าเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่ใช้เวลาถึง 5 ปี
ทั้งนี้ การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมานับว่าทำได้ดีระดับหนึ่ง หลังจากตัดสินใจล็อกดาวน์ประเทศในช่วงเดือน เม.ย.และมีมาตรการเยียวยาทันที ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ได้รับการเยียวยาราว 33 ล้านคน เป็นวงเงินราว 9 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินเยียวยาโดยตรงราว 5 แสนล้านบาท และเงินเสริมสภาพคล่อง ซึ่งรวมซอฟท์โลน ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ตลอดจนมาตรการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ราว 5 หมื่นล้าบาท ทั้งค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เป็นต้น ส่งผลให้วันนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และมีการทยอยเปิดเศรษฐกิจ ทำให้ดัชนีชี้วัดต่าง ๆ ของประเทศเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ทั้งในภาคการผลิต ภาคการบริโภค และท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีมาตรการพักชำระหนี้ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะหมดอายุในเดือน ต.ค.นี้ แม้จะทำให้ผู้ประกอบการมีความกังวลแต่ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่เบื้องต้นเชื่อว่าผู้ประกอบการหลายรายก็เริ่มกลับเข้าสู่สภาพเดิม ดังนั้น สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะเห็นการผิดนัดชำระหนี้หลังจากสิ้นสุดมาตรการนั้นก็คงจะไม่ได้เกิดขึ้นมากนัก
ทั้งนี้ รัฐบาลประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้อาจจะมีคนว่างงานกว่า 1 ล้านคน จึงได้เตรียมจัดงาน JOB EXPO THAILAND 2020 ที่รวบรวมตำแหน่งงานกว่า 1,000,000 อัตรา ในช่วงวันที่ 26-28 ก.ย.นี้ เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ และอาจจะมีเพิ่มเติมในอนาคต
หลังจากนี้ ในช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค.63 รัฐบาลก็เตรียมมาตรการเสริมเพื่ออัดฉีดเงินเข้าระบบเพิ่มเติม หลังจากเห็นว่าบางอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบจากการที่ไทยยังไม่สามารถเปิดประเทศได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว บริการ และส่งออก โดยจะมีมาตรการกระตุ้นในหลายระดับ คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบราว 1 แสนล้านบาท ในส่วนนี้เป็นเม็ดเงินจากภาครัฐราว 5 หมื่นล้านบาท และภาคประชาชนอีกราว 5 หมื่นล้านบาท
สำหรับวงเงิน 5 หมื่นล้านบาทของภาครัฐที่จะใช้ในครั้งนี้ อยู่ในกรอบวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐรวม 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น การช่วยเหลือจ้างงานเด็กจบใหม่กว่า 2 หมื่นล้านบาท, โครงการเตรียมแรงงานว่างงานที่กลับเข้าสู่ชนบทราว 1 แสนล้านบาท และเมื่อรวมที่จะใช้กระตุ้นในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้อีก 5 หมื่นล้านบาท ก็จะยังคงเหลือวงเงินอีกราว 2.3 แสนล้านบาทที่จะถูกนำไปใช้ในปี 64
"การกระตุ้นการใช้จ่ายมีหลายระดับ มีโครงการที่มีตั้งแต่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เราจะเติมให้ และมีโครงการคนละครึ่ง และกำลังคิดในระดับบนขึ้นไปอีก จะมีการส่งเสริมเรื่องใดบ้าง อาจจะเป็นภาษี หรือคนละเสี้ยว รวม ๆ น่าจะประมาณอีก 1 แสนล้านบาทในช่วงเดือนตุลา พฤศจิกา ธันวา ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอันนี้ไม่ได้ให้เปล่า มาจากคนละครึ่งบ้าง คนละเสี้ยวบ้าง"นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับในปี 64 เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศจะค่อย ๆ ดีขึ้น จากการบริโภคในประเทศที่ดีขึ้น และอีกส่วนจากการที่ภาครัฐช่วยออกมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างชาติ ด้วยการออกวีซ่าประเภทพิเศษ เพื่อให้ต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางมาพำนักระยะยาว (Long Stay) ภายในประเทศไทย คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือน ต.ค. โดยการเข้าประเทศจะอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกับคนไทยจากต่างประเทศที่เดินทางกลับเข้าไทย โดยเชื่อว่านักท่องเที่ยวประเภทนี้เป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพที่จะทำให้ไทยสามารถดึงเม็ดเงินจากภาคการท่องเที่ยวกลับเข้ามาได้แม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่มากเหมือนเดิมที่เคยอยู่ระดับ 30-40 ล้านคน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมดึงดูดเรื่องการลงทุนจากต่างชาติ หลังเห็นโอกาสมากขึ้นเพราะไทยมีจุดเด่นเรื่องของอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร รวมถึงมีการส่งเสริมพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วย ขณะที่ปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับโลกเริ่มเปลี่ยนแนวคิดไม่ได้ปักหลักฐานผลิตเพียงที่เดียว มาเป็นการกระจายฐานผลิตในหลายประเทศเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องปัญหาซัพพลายเชน
"ขึ้นกับการควบคุมการระบาดของเราด้วย การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการป้องกันโรคระบาดไปด้วยกัน ถ้าเราควบคุมได้ดีและค่อย ๆ เปิดประเทศก็มีโอกาสเป็น V-Shape ได้ คล้าย ๆ สัญลักษณ์ไนกี้ ถ้าเราควบคุมการระบาดได้ดี หน้าที่นี้ไม่ใช่รัฐบาลฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนและประชาชนต้องร่วมมือกันด้วย"นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ ซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นเวลากว่า 1 เดือน แสดงความเห็นถึงการทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาลว่า ไม่กังวลเรื่องการทำงานและสภาพการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะตราบใดที่ยังคงมีรัฐบาล และการผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณต่าง ๆ ยังเป็นไปตามกำหนดการ
ส่วนการหาผู้เข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.คลังนั้น ขณะนี้นายกรัฐมนตรีก็มีรายชื่อในใจแล้ว และก็มีผู้พร้อมที่จะเข้ามาร่วมทำหน้าที่ในคณะรัฐบาล คาดว่าจะมีความชัดเจนในเดือนต.ค.นี้ แต่ในส่วนของการเมืองนอกสภาฯ ขณะนี้ยังมองว่าไม่ได้น่ากังวลเพราะเป็นการแสดงออกทางความคิดของคนรุ่นใหม่ แต่การดำเนินการใด ๆ ควรต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย