นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวในการสัมมนา "BATTLE STRATEGY แผนฝ่าวิกฤต พิชิตสงคราม EPISODE II : DON'T WASTE A GOOD CRISIS พลิกชีวิตด้วยวิกฤตการณ์" ในหัวข้อ "ประเทศไทยกับการก้าวข้ามเศรษฐกิจติดเชื้อ" ว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยเกิด 3 บาดแผลสำคัญ คือ
1. ภาคธุรกิจปิดกิจการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 และการชะลอของเศรษฐกิจโลก คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ ยอดขายและยอดส่งออกหดตัวลงมาก ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม และธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก จากผลกระทบการบริโภคชะลอตัวและการล็อกดาวน์ รวมถึงธุรกิจรายเล็กที่ขาดสภาพคล่อง
2. ปัญหาการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้สะท้อนภาพชัดเจน แม้ว่าสิ้นไตรมาส 2/63 ตัวเลขการว่างงานของไทยจะอยู่ในระดับเพียง 2% แต่หากมีการปิดกิจการเพิ่มขึ้นก็จะทำให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้เกิดความกังวลว่ากลุ่มคนที่มีอายุ 15-24 ปี และกลุ่มนักศึกษาจบใหม่จะมีโอกาสตกงานมากขึ้น แม้แต่กลุ่มแรงงานรายชั่วโมงบางกลุ่มที่มีจำนวนมากถึง 2.5 ล้านคน ก็มีชั่วโมงการทำงานลดลง หรือมีงานทำแต่ทำงาน 0 ชั่วโมง เปรียบเสมือนกับคนตกงาน หากรวมกลุ่มคนที่ทำงาน 0 ชั่วโมงเข้าไป ตัวเลขการว่างงานของไทยจะเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจาก 2% ไปที่ 7.4% จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่น่ากังวลต่อผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
และ 3. การดูแลงบดุลของภาคครัวเรือน ค่อนข้างมีความเปราะบาง จากที่ผ่านมาครัวเรือนได้สร้างภาระหนี้สินไว้เป็นจำนวนมาก สัดส่วนหนี้ครัวเรือนล่าสุดมาที่ 81% และคาดว่าสิ้นปี 63 จะเพิ่มขึ้นเป็น 88-89% ส่งผลกระทบต่อการบริโภคของภาคครัวเรือน การจับจ่ายใช้สอยชะลอตัว จะเป็นปัญหาต่อกำลังซื้อในอนาคตที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ขาดแรงหนุนของปัจจัยภายในประเทศ
นายยรรยง กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจทั่วโลกยังมองว่าจะเป็นการค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และการฟื้นตัวจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมด้วย เนื่องจากความสามารถในการการบริหารจัดการและมาตรการอัดฉีดเงินและเยียวยาของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐของแต่ละประเทศมีความสามารถที่แตกต่างกัน อย่างเช่น ประเทศสหรัฐฯ และจีน ที่เห็นแนวโน้มการฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ เพราะทั้ง 2 ประเทศมีการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อทำมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เป็นจำนวนมากและมหาศาล ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสามารถกลับมาได้เร็ว
"การฟื้นตัวในครั้งนี้แต่ละประเทศไม่เหมือนกัน และแต่ละ sector ก็ไม่เหมือนกันด้วย แม้ทุกคนมองว่าเศรษฐกิจจะ Bottom out ไปแล้ว แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็เป็นการฟื้นตัวทีชะลออยู่ และฟื้นตัวช้า ส่วนประเทศไหนจะฟื้นกลับมาก่อนก็ขึ้นกับความสามารถในการอัดฉีดเม็ดเงินของประเทศนั้น"นายยรรยง กล่าว
ด้านภาคอุตสาหกรรมก็มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะฟื้นตัวช้าที่สุด คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ยังคงต้องรอความหวังการผลิตวัคซีนรักษาโควิด-19 ออกมาใช้และกระจายไปให้กับทุกประเทศก่อน จึงจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นได้เร็ว โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 3 ปีกว่าจะเห็นการฟื้นตัวกลับมาเหมือนกับช่วงก่อนโควิด-19
ขณะที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวช้า เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำไห้กำลังซื้อของคนลดลง และคนชะลอการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้การตัดสินใจซื้อสินค้าคงทนเป็นสินค้าเสียหายยาก และใช้ได้นานจะไม่ได้กลับมาได้เร็ว รวมไปถึงกลุ่มสินค้าไม่จำเป็นหรือสินค้าฟุ่มเฟือยด้วย
ส่วนภาคการส่งออกหรือการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศยังมีโอากสกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว แต่ยังต้องใช้ระยะเวลา 2 ปีกว่าจะกลับมาเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 โดยการส่งออกนั้นจะต้องมีการวิเคราะห์ตลาดในแต่ละประเทศให้ดี เพื่อดูว่าประเทศใดจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว และเน้นการเข้าไปทำตลาดในประเทศนั้น เพราะจะได้รับประโยชน์จากการกลับมาฟื้นตัวของประเทศที่ฟื้นตัวก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจส่งออกไทยควรให้ความสำคัญเพราะจะเป็นการสร้างโอกาสในการกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
นายยรรยง กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความท้าทายค่อนข้างมาก จากปัจจัยความไม่แน่นอนของโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆทำให้ฟื้นตัวยังคงต้องไช้ระยะเวลาไปถึงปี 66 กว่าจะเห็นการกลับมาเติบโตเหมือนกับก่อนเกิดโควิด-19 แต่ทุกภาคส่วนจะต้องเตรียมความพร้อมรับแรงกดดันในระยะสั้นเพื่อก้าวข้ามวิกฤติในครั้งนี้ไป และปรับตัวให้หมาะกับสถานการณ์ มีรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อช่วยในการดำเนินงาน และการวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้ทุกคนสามารถผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้