นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวในการสัมมนา "BATTLE STRATEGY แผนฝ่าวิกฤต พิชิตสงคราม EPISODE II : DON'T WASTE A GOOD CRISIS พลิกชีวิตด้วยวิกฤตการณ์"ในหัวข้อ หนทางสู่ความอยู่รอดในยุค "มหาวิกฤติ"ว่า ภาครัฐถือเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดในการนำพาทุกคนในประเทศรอดพ้นมหาวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ โดยจะต้องมีมาตรการออกมาแบบที่ใหญ่พอ ทันเวลา ตรงจุด โปร่งใสตรวจสอบได้ และคล่องตัวในการนำมาตรการชั่วคราวออกมาใช้ช่วยเหลือได้ทันถ่วงที
จากที่ผ่านมารัฐฐาลได้อนุมัติการใช้เงิน 2 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นเงินที่มีขนาดใหญ่ในการเตรียมเข้ามาอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่การใช้เงินยังไม่ตรงจุด และใช้ได้จริงน้อยมาก เบิกจ่ายออกมาไม่ถึง 1 ล้านล้านบาท ยังไม่สามารถที่จะนำพาทุกคนในประเทศให้รอดพ้นมหาวิกฤตในครั้งนี้ไปได้
อุปสรรคที่เป็นปัญหาของการทำมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในการช่วยเหลือและเยียวยาที่ออกมาไม่ตรงจุด ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเดิมของประเทศไทย ที่มาจากการมีข้อมูลที่ไม่ดี และไม่เพียงพอ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการออกแบบมาตรการยังไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้มาตรการต่างๆ ที่ออกมานั้นยังไม่สามารถช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ตรงจุด ทำให้ไม่เห็นผลของการใช้มาตรการที่ออกมาอย่างชัดเจน และช่วยเหลือได้แค่กลุ่มเล็กๆเท่านั้น มาตรการที่ออกมายังไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
"เวลาภาครัฐออกมาตรการมา เขาอยากได้แบบยิงปืน Bazooka ที่ยิงไปได้ผลตูมใหญ่ในวงกว้าง แต่จริงๆแล้วเป็นเพียง Bullet ที่ยิงออกมาทีละนิด ก็มาจากปัญหาโครงสร้างเดิมของไทยที่ยังมีข้อมูลไม่ดี"นายบรรยง กล่าว
นายบรรยง กล่าวว่า ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้นสิ่งที่ภาครัฐควรเป็นกลไกที่สำคัญในการเข้ามารับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ไม่ตั้งเงื่อนไขเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะกระทบกับภาครัฐหรืงหน่วยงานภาครัฐจนมากเกินไป อย่างเช่น เงินกู้ซอฟท์โลนที่มีเงื่อนไขมากทำให้ไม่จูงใจธนาคารพาณิชย์ที่เข้ามาช่วยรับความเสี่ยง ทำให้เงินกู้ซอฟท์โลนปล่อยได้น้อย และไม่เห็นผลถึงการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี
อีกทั้งภาครัฐควรรับความเสี่ยงจากการนำทรัพยากรที่หยิบยืมอนาคตมาใช้ก่อน เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ก้าวข้ามวิกฤติไปได้ โดยการกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 70% ของจีดีพี จากปัจจุบันที่ 60% ของจีดีพี เพื่อทำให้ภาครัฐสามารถนำเงินก้อนใหญ่มาอัดฉีดเข้าระบบ กระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศให้กลับมาโดยเร็ว ในภาวะที่ประเทศไทยยังขาดปัจจัยของต่างชาติที่เข้ามาสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากภาคท่องเที่ยว แต่ภาครัฐต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่ากู้เงินมาแล้วจะมีแผนการในอนาคตว่าจะใช้คืนอย่างไร มีวิธีการใดในการหารายได้เพิ่มเพื่อนำมาใช้คืนหนี้ที่กู้มา เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้ทราบและเข้าใจ และเป็นการลดความขัดแย้ง
โดยแนวทางการเพิ่มรายได้รัฐเพื่อที่จะนำรายได้มาใช้คืนเงินกู้นั้นสิ่งที่แนะนำ คือ การเพิ่มภาษีที่เก็บจากภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 25% ก็สามารถช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นได้ แม้ว่าภาคธุรกิจจะมีผลกระทบบ้าง แต่มองว่าอัตราภาษีที่ 25%ไม่กระทบต่อภาคธุรกิจมาก และยังมีความสามารถในการดำเนินงานได้ พร้อมกับการที่ภาครัฐต้องตัดขายของที่ตัวเองถืออยู่ โดยเฉพาะการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เช่น PTT และ AOT เพื่อที่จะได้นำเงินนั้นมาใช้คืนนี้ที่กู้มาได้ ซึ่งหากภาครัฐขายหุ้นทั้ง 2 บริษัทออกไปทั้งหมดจะมีเงินกลับมาราว 2 ล้านล้านบาท
การแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างเต็มตัวจะเป็นสิ่งที่ทำให้ภาครัฐลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ด้วย และมีเงินจำนวนมากกลับมาใช้ในการพัฒนาประเทศ รวมถึงทำให้องค์กรรัฐวิสาหกิจสามารถขับเคลื่อนองค์กรได้อยทางมีประสิทธิภาพทำให้รัฐวิสาหกิจบางรายสามารถกลับมาฟื้นตัวขึ้น และก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำได้ เหมือนในต่างประเทศที่มีการแปรรูปรัฐวิสหกิจ ซึ่งทรัพยากรในตลาดจะบีบบังคับให้รัฐวิสาหกิจพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นเอง
"สิ่งที่ภาครัฐจะต้องทำเพื่อให้ก้าวข้ามมหาวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ คือ การลดขนาดภาครัฐ การลดบทบาท และการกระจายอำนาจ เพราะวิกฤตครั้งนี้คงไม่มีประเทศไหนล้มหรือไม่ล้ม แต่มันจะเป็นรูปแบบว่าใครจะรอดหรือไม่รอดและใครไนสังคมที่ได้รับบาดเจ็บมากกว่ากัน"นายบรรยง กล่าว