น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ถึงแม้เศรษฐกิจประเทศจะอยู่ในภาวะหดตัวเช่นเดียวกับประเทศทั่วโลกเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 แต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าวางรากฐานเพื่อการพัฒนาประเทศและการลงทุน เพราะในระยาวเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ และการเชื่อมโยงการคมนาคมและขนส่งภายในประเทศและระหว่างประเทศถือเป็นการวางพื้นฐานสำคัญ รัฐบาลไม่ได้อยู่นิ่งเฉยรอความหวังจะถึงวันเศรษฐกิจดีขึ้น แต่เดินหน้าสร้างโอกาสให้ประเทศด้วยแผนยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายชัดเจน โดยรัฐบาลเดินหน้าผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ควบคู่ไปกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่และทางออกทะเลของภาคใต้ตอนบน โดยยึดแนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ผสานกับเทคโนโลยี และความได้เปรียบทางกายภาพและที่ตั้งของพื้นที่ รวมทั้งการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ ซึ่งแตกต่างจากแนวทางการพัฒนาพื้นที่ EEC
โดยกรอบการพัฒนา SEC ประกอบด้วย 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การพัฒนาประตูการค้าฝั่งตะวันตก (Western Gateway) 2.การพัฒนาประตูสู่การท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามัน (Royal Coast & Andaman Route) 3.การพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง (Bio-Based & Processed Agricultural Products) และ 4.การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรม(Green & Culture)
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เริ่มขับเคลื่อนแผนการพัฒนา SEC ในระยะ 2562-2565 และมีแผนระยะยาวปี 2566 เป็นต้นไป รวม 111 โครงการ คิดเป็นวงเงินที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ 102,418 ล้านบาท ได้แก่ การพัฒนาท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ระนอง, การพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการตลาดของท่าเรือระนองรองรับกลุ่ม BIMSTEC ที่มีประชากรกว่า 1.5พันล้านคน (บังคลาเทศ อินเดีย เมียนมา ศรีลังกา ภูฏาน และเนปาล) , การพัฒนาถนนเลียบชายทะเลภาคใต้ฝั่งอันดามันสู่พื้นที่ตอนในโครงการขยายทางหลวงระนอง-พังงาเป็น 4 ช่องจราจร, การศึกษาออกแบบ/ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รถไฟสายใหม่ ระนอง-ชุมพร, การสนับสนุนการแปรรูปสมุนไพรแบบครบวงจร, การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็น ASEAN Digital Hub
นอกจากนี้ รัฐบาลได้เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) คาดจะรู้ผลกลางปี 2566 ซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมโยงการขนส่งและคมนาคมอย่างครบถ้วนระหว่าง EEC (ฝั่งอ่าวไทย) และ SEC (ฝั่งอันดามัน) เพิ่มศักยภาพในการรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าจากพื้นที่ EEC เพื่อส่งออก/นำเข้าไปยังประเทศแถบมหาสมุทรอินเดียโดยตรง และเชื่อมต่อไปยังกลุ่ม BIMSTEC ประเทศตะวันออกกลาง และยุโรปได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ โครงการ SEC จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นในการลงทุนภาคอุตสาหกรรม และสามารถยกระดับเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น/เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ SEC จะเป็นประตูเศรษฐกิจด้านตะวันตกของไทยสู่เอเชียใต้ สามารถเชื่อมโยงกับ EEC ทำให้ต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ต่ำลง และจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคที่มีศักยภาพและเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตของเมืองและการท่องเที่ยวด้วย