นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ที่สามารถใช้เชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเอทานอลตั้งแต่ 20% ขึ้นไป โดยให้ปรับลดลง 5% จากอัตราที่เรียกเก็บในปัจจุบัน มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.51 เป็นต้นไป
นายสมชัย อภิวัฒนพร รองอธิบดี กรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการภาษีสรรพสามิตเพื่อส่งเสริมรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลและรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนที่สามารถใช้เชื้อเพลิงประเภทเอทานอล
เป็นส่วนผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2550 และให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์มีระยะเวลาในการปรับตัวเพื่อผลิตรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนที่สามารถใช้เชื้อเพลิงประเภทเอทานอลเป็นส่วนผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ได้ ในวันที่ 1 มกราคม 2551
รายละเอียด ประกอบด้วย รถยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร และมีกำลังเครื่องยนต์ไม่เกิน 220 แรงม้า (HP) เก็บอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 25
รถยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบเกิน 2,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 2,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร และมีกำลังเครื่องยนต์ไม่เกิน 220 แรงม้า (HP) เก็บอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 30
รถยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบเกิน 2,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร และมีกำลังเครื่องยนต์ไม่เกิน 220 แรงม้า (HP) เก็บอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 35
สำหรับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนที่สามารถใช้เชื้อเพลิงประเภทเอทานอลเป็นส่วนผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต้องมีคุณลักษณะดังนี้ มีการออกแบบที่ผลิตให้เป็นรถยนต์ประเภทใช้เชื้อเพลิงประเภทเอทานอลเป็นส่วนผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 โดยโรงอุตสาหกรรมที่ผลิตรถยนต์รุ่นนั้นๆ โดยตรง
นอกจากนี้ มีการรับประกันจากผู้ผลิตว่าสามารถใช้เชื้อเพลิงประเภทเอทานอลเป็นส่วนผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และต้องได้รับการรับรองมาตรฐานมลพิษจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่าระดับ มอก. 2160-2546
นายสมชัย คาดว่า ม.ค.51 จะมีรถรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนเข้าสู่ตลาดประมาณ 3 หมื่นคัน ซึ่งจะทำให้กระทบฐานรถยนต์โดยรวมที่มีประมาณ 1.72 แสนคันต่อปี ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 1.3 พันล้านบาท จากการเก็บภาษีได้น้อยลง
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--