นักวิเคราะห์และสำนักงานจัดอันความน่าเชื่อถือระบุว่า ธนาคารต่างๆในเอเชียต่างพากันเปิดเผยการลงทุนในตราสารที่มีหลักทรัพย์เป็นประกันหรือซีดีโอ เชื่อความเสี่ยงของธนาคารในภูมิภาคยังคงอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้
สำนักข่าวธอมสันไฟแนนเชียลรายงานว่า ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารต่างๆในเอเชียได้รายงานข้อมูลใหม่ๆเกี่ยวกับการลงทุนในซีดีโอ ซึ่งการลงทุนบางส่วนอาจจะเกี่ยวพันกับตลาดซับไพรม์ที่มีปัญหาในสหรัฐ โดยซีดีโอเป็นหลักทรัพย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสินทรัพย์หลายประเภท ตั้งแต่พันธบัตร เงินกู้ และตราสารหนี้ รวมทั้งเงินกู้บริษัท การจำนองระดับสูง การจำนองแก่ลูกค้าที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ เงินกู้ซื้อรถ และหนี้บัตรเครดิต
การเปิดเผยข้อมูลการลงทุนในซีดีโอดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากธนาคารต่างๆต้องการที่จะคลายความตื่นตระหนกของนักลงทุนที่เป็นกังวลว่า วิกฤตในสหรัฐอาจจะลุกลามมายังธนาคารต่างๆในภูมิภาคเอเชีย โดยเงินกู้ซับไพรม์เป็นเงินกู้ที่ได้มีการอนุมัติให้กับนักลงทุนที่มีความน่าเชื่อถือต่ำและมีปัญหาในการชำระหนี้
จนถึงขณะนี้ ดูเหมือนว่า ธนาคารแบงค์ ออฟ ไชน่า ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน มีสัดส่วนการลงทุนในซีดีโอสูงสุดในบรรดาธนาคารในเอเชีย ด้วยมูลค่า 9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ ธนาคารดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ของสิงคโปร์ที่ลงทุนไป 1.6 พันล้านดอลลาร์ และธนาคารไอซีไอซีไอของอินเดียในอันดับ 3 ที่ 1.45 พันล้านดอลลาร์
การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวคาดว่า จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะปัญหาซับไพรม์กำลังส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ และธนาคารเองก็จะประสบภาวะขาดทุนทางบัญชีได้หากพบหลักทรัพย์ที่จัดเป็นหนี้สินในตลาด
เดเบอราห์ ชูเลอร์ รองประธานอาวุโสสถาบันการเงินเอเชียของมูดีส์ กล่าวว่า เรากำลังจับตาสถานการณ์ในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆว่าจะได้รับผลพวงต่อเนื่องอย่างไร
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์: panaiyada@infoquest.co.th--